เรื่องเล่าจากราชกิจจานุเบกษา : "การเปิดเส้นทางรถไฟสายเพชรบุรี ปฐมบททางรถไฟสายใต้"
เรื่องเล่าจากราชกิจจานุเบกษา : "การเปิดเส้นทางรถไฟสายเพชรบุรี ปฐมบททางรถไฟสายใต้"
“...เรามีความพอใจเปนอันมาก ในการงานที่เธอได้กระทำให้สำเร็จได้แล้วนี้ แลในขณะเมื่อเรามี ความประสงค์อยู่ว่า ขอให้ทางรถไฟสายนี้จงมีความสำเร็จตลอดทุกอย่างนั้น เรามีความยินดีที่จะลงมือกระทำการเพื่อให้เปนอันเสร็จงานที่สุดของการก่อสร้างทางรถไฟนี้แลมีความยินดีที่จะประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ตั้งแต่นี้สืบไป ทางรถไฟสายนี้เปนอันเปิดให้คนทั้งปวงใช้ได้ทั่วกันแล้ว...”
ความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสเปิดทางรถไฟสายเพชรบุรีที่ทรงตอบแก่พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้า กรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ภายหลังกราบบังคมทูลรายงานการจัดสร้างรถไฟสายดังกล่าว ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 20 หน้า 191-192 ลงวันที่ 28 มิถุนายน ร.ศ. 122
ย้อนไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเปิดการเดินรถไฟสายเพชรบุรี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟสร้างทางรถไฟในทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา จากสถานีธนบุรี (บางกอกน้อย) บริเวณปากคลองบางกอกน้อย ตรงไปทางตะวันตก เลียบตามแนวคลองมหาสวัสดิ์ ข้ามแม่น้ำท่าจีนตรงตำบลบ้านเขมร ต่อไปจนถึงจังหวัดนครปฐม ตรงตำบลบ้านโป่งเลี้ยวไปทางใต้เลียบใกล้ฝั่งแม่น้ำ ข้ามน้ำแม่กลองไปตัวเมืองราชบุรี จากนั้นตรงไปตามทางหลวงจนไปถึงจังหวัดเพชรบุรี ทั้งนี้ด้วยทรงมีพระราชดำริว่าในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา สมควรสร้างทางรถไฟเพื่อลงสู่ภาคใต้ของประเทศ โดยสร้างเป็นทางขนาดกว้าง 1 เมตร ซึ่งต่างกับทางรถไฟสายนครราชสีมาที่ใช้รางกว้าง 1.435 เมตร รวมระยะทาง 150 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างในปลายปี พ.ศ. 2442 เมื่อสร้างแล้วเสร็จ ได้เปิดทดลองเดินรถตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2446 ค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 7,880,000 บาท
ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 20 หน้า 188-189 ลงวันที่ 28 มิถุนายน ร.ศ. 122 ได้กล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินเปิดการเดินรถไฟในครั้งนี้ว่า ได้มีการจัดตกแต่งสถานีธนบุรี (บางกอกน้อย) ที่หน้าวัดอมรินทรารามวรวิหารด้วยธงรูปจักรปีกและต้นไม้ ภายในสถานีมีการตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐาน พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลและพระชัยหลังช้าง มีเครื่องนมัสการ พระแท่นทรงกราบ อาสนสงฆ์ เป็นต้น ต่อออกมาตั้งพระราชบัลลังก์ และที่สะพานท่าน้ำสถานีจัดตั้งปรำประดับประดาธงรูปจักรปีกด้วยเช่นกัน โดยในเวลาเช้าโมงเศษ (7 นาฬิกาเศษ) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องอย่างจอมพลทหารบก ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ เสด็จออกทรงรถม้าพระที่นั่งพร้อมด้วยกระบวนทหารราชองครักษ์ มหาดเล็ก แห่นำตามเสด็จฯ พระราชดำเนินออกจากพระบรมมหาราชวัง เลี้ยวเข้าถนนหน้าพระลาน แล้วไปเลี้ยวที่ป้อมอินทรังสรรค์ไปตามถนนริมกำแพงพระนคร หยุดรถพระที่นั่งที่ชาลาพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย แล้วเสด็จพระราชดำเนินลงประทับเรือกลไฟชื่อชลยุทธ์ ที่ท่าราชวรดิฐ มีเรือกลไฟเป็นเรือแห่นำตามเสด็จเรือพระที่นั่งกลไฟใช้จักรแล่นขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยา เทียบท่าสถานีที่ปากคลองบางกอกน้อยแล้ว เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประทับรถพระที่นั่ง ซึ่งเจ้าพนักงานกรมรถไฟได้จัดไว้รับเสด็จ แล้วรถไฟใช้จักรลากรถพระที่นั่งไปหยุดที่สถานีบริเวณหน้าวัดอมรินทรารามวรวิหาร เสด็จลงจากรถพระที่นั่งเข้าไปประทับในสถานี พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และราชทูต กงสุล ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ รวมถึงพ่อค้าชาวต่างประเทศอื่น ๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพร้อมกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ทรงจุดเทียนนมัสการแล้วประทับ ณ พระราชบัลลังก์ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ได้กราบบังคมทูลรายงานในการที่โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างทางรถไฟสายนี้ตั้งแต่ต้นจนสำเร็จจบแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบ ทรงแสดงพระราชหฤทัย ทรงชื่นชมยินดีในการที่ได้จัดสร้างทางรถไฟสายนี้สำเร็จ จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และสัญญาบัตรแก่ข้าราชการในกรมรถไฟ แล้วเสด็จไปประทับที่รางรถไฟตรงหน้าสถานี ทรงตรึงหมุดอันสุดท้ายที่รางรถไฟด้วยพระราชหัตถ์ เพื่อเป็นมงคลแก่ทางรถไฟสายนี้ว่าเป็นอันสำเร็จบริบูรณ์แล้ว ในเวลานั้นพระสงฆ์ดำรงสมณศักดิ์ 5 รูป มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เป็นประธานสวดชยันโต เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์ ฆ้องชัย พิณพาทย์
เมื่อทรงตรึงหมดเสร็จแล้ว เจ้าพนักงานกรมรถไฟได้เลื่อนรถไฟและรถพ่วงสำหรับเดินรถตามธรรมดา ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เดินเป็นฤกษ์มาหยุดที่หน้าพระที่นั่ง แล้วเจ้าพนักงานกรมภูษามาลาได้เชิญพระชัยหลังช้างขึ้นประดิษฐานในรถพ่วง พระอมรโมฬี เจ้าคณะมณฑลราชบุรี ได้ขึ้นรถไฟสำหรับโปรยทรายไปจนตลอดถึง สุดทางเมืองเพชรบุรี พอการพร้อมเพรียงแล้ว แฮร์มันน์ เกียร์ทส์ (Hermann Gehrts) เจ้ากรมรถไฟได้กราบบังคมทูลพระกรุณาฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ห้เจ้าพนักงานกรมรถไฟใช้จักรเดินรถไฟเป็นฤกษ์ไปตลอดถึงเมืองเพชรบุรี จากนั้นทรงมีพระราชปฏิสันถารกับพระบรมวงศานุวงศ์ ราชทูต กงสุล พ่อค้าชาวต่างประเทศตามสมควร แล้วเสด็จประทับโต๊ะเสวย เสร็จการเสวยแล้วได้มีพระราชดำรัสกับผู้ที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทต่อตามสมควร จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับพระบรมมหาราชวัง ในเวลาเช้า 3 โมงเศษ (9 นาฬิกาเศษ)
ภายหลังการเปิดเส้นทางรถไฟสายเพชรบุรีในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2446 แล้ว ต่อมาได้มีการสร้างทางรถไฟสายนี้ต่อ โดยนายเฮนรี กิตตินส์ (Henry Gittins) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากกรมรถไฟให้เป็นผู้อำนวยการสร้างทางรถไฟสายใต้ และรัฐบาลได้ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดจัดที่ดินสร้างทางรถไฟหลวงสายใต้ ตั้งแต่เพชรบุรี ปราณบุรี ชุมพร หลังสวน ไชยา ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ตลอดถึงระแงะ เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2452 โดยเริ่มจากเพชรบุรีลงไปทางใต้ และจากสงขลาถึงกันตังขึ้นมาทางเหนือ มาบรรจบกันที่ชุมพร ระยะทางรวมจากสถานีธนบุรี (บางกอกน้อย) ถึงสุไหงโกลก ทั้งนี้ปลายทางเชื่อมกับรถไฟมลายูที่มาจากรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย รวมระยะทาง 1,144 กิโลเมตร ค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 62,435,195 บาท สร้างเสร็จและเปิดเดินรถได้ตลอดเส้นทาง เมื่อปี พ.ศ. 2464 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้สนใจสามารถใช้บริการราชกิจจานุเบกษา ฉบับตีพิมพ์ ได้ที่ห้องบริการหนังสือประเทศไทย ราชกิจจานุเบกษา และหนังสือนานาชาติ ชั้น 3 อาคาร 1 สำนักหอสมุดแห่งชาติ
เรียบเรียงโดย นายสุวิชา โพธิ์คำ บรรณารักษ์ชำนาญการ กลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ
กราฟิก นายชลิต ปรีชากุล นายช่างศิลปกรรม สำนักหอสมุดแห่งชาติ
ภาพประกอบจาก เฟซบุ๊กทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย https://www.facebook.com/pr.railway/posts/2754862101195310
บรรณานุกรม
กรมรถไฟ. งานฉลองรถไฟหลวง ครบ 50 ปี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ กรมรถไฟ, 2490.
“การงานการจัดสร้างทางรถไฟเพ็ชรบุรี.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 20. (28 มิถุนายน 122): 189-191.
“การเปิดรถไฟเพ็ชรบุรี.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 20. (28 มิถุนายน 122): 188-189.
การรถไฟแห่งประเทศไทย. มหาราชของการรถไฟ. กรุงเทพฯ: การรถไฟแห่งประเทศไทย, 2543.
_______. 100 ปีรถไฟไทย. กรุงเทพฯ: การรถไฟแห่งประเทศไทย, 2540.
เกื้อกุล ยืนยงอนันต์. การพัฒนาการคมนาคมทางบกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมฝึกหัดครู, 2520.
“ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดจัดที่ดินสร้างทางรถไฟหลวงสายใต้.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 26. (29 กรกฎาคม 128): 9-12.
“พระราชดำรัสเปิดทางรถไฟเพ็ชรบุรี.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 20. (28 มิถุนายน 122): 191-122.
สรรพสิริ วิริยศิริ. เรารักรถไฟ. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2535.
(จำนวนผู้เข้าชม 165 ครั้ง)