เรือแข่งเมืองน่าน




ประเพณีการแข่งเรือวันออกพรรษาของวัดบุญยืน ซึ่งเป็นพระอารามหลวงตั้งอยู่ที่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน จะกระทำในโอกาสประเพณีตานก๋วยสลากของวัดบุญยืน ซึ่งยึดถือปฏิบัติเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่สมัยสมเด็จเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน ทรงสร้างและบูรณะวัดบุญยืนขึ้นในปี พ.ศ.2343 โดยยึดถือคติในไตรภูมิพระร่วง ตามพุทธประวัติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงเสด็จประทับจำพรรษาบนสรวงสวรรค์ เพื่อโปรดพุทธมารดา ครั้งออกพรรษาจึงเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์สู่โลกมนุษย์ ในวันออกพรรษาของวัดบุญยืน จะมีกิจกรรมการแข่งขันเรือของแต่ละหมู่บ้านที่มาร่วมงานถวายทานสลากภัต โดยยึดถือปฏิบัติกันมา ไม่ว่าวันออกพรรษาจะตรงกับวันใดก็ตามโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง
เรือแข่งเมืองน่านมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างจากเรือแข่งโดยทั่วไป ด้วยหัวเรือใช้ไม้แกะสลักเป็นรูปพญานาค เนื่องจากคติความเชื่อของคนโบราณที่ว่า พญานาคเป็นเจ้าแห่งสายน้ำ เจ้าแห่งชีวิต เป็นตัวแทนความศรัทธาที่มนุษย์มีต่อน้ำ พญานาคจะดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เกิดความสมบูรณ์ต่อเรือกสวนนาไร่ บางปีหากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวเมืองจะนำเรือมาพาย เสมือนว่าพญานาคเล่นน้ำขอฝน ซึงเป็นที่อัศจรรย์ว่า มีฝนตกลงมาทุกครั้ง ลักษณะเรือแข่งเมืองน่านจะทำหัวเรือเป็นรูปพญานาค ชูคอสง่า อ้าปากเห็นเขี้ยวโง้ง งอนสูง ตาโปนแดง ส่วนหางยาวเรียว โค้งสะบัด ติดพู่ห้อยงดงามยิ่งนัก เอกลักษณ์ของเรือแข่งเวียงสามีส่วนประกอบที่สำคัญ 3 ส่วนคือ หัวเรือ กัญญาหัว และกัญญาท้ายเรือ
พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรือแข่งเมืองน่าน เริ่มตั้งแต่ตัดไม้ตะเคียน ขุดแต่งลำเรือ ไปจนกระทั่งการแข่งขันเรือสิ้นสุดลง โดยจะมีผู้ประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่า "ข้าวจ้ำ" หรือ "หมอสู่ขวัญ" เรียกแตกต่างกันไปตามโอกาสของการจัดพิธีกรรม โดยทั่วไปเป็นปราชญ์ที่มีความอาวุโสในหมู่บ้าน หรือพระสงฆ์ มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการอ่าน เขียนและท่องบทคาถาภาษาล้านนาได้เป็นอย่างดี เป็นที่เชื่อถือและศรัทธาของคนในหมู่บ้าน มีความเกี่ยวข้องกับพิธีกรรม 6 พิธี ได้แก่ 1) พิธีตัดต้นตะเคียน 2) พิธีอัญเชิญเจ้าแม่ตะเคียน 3) พิธีขอขมาเจ้าแม่ตะเคียนเพื่อทำการขุดเรือแข่ง 4) พิธีอัญเชิญเจ้าแม่ตะเคียนสิงสถิตในเรือแข่ง 5) พิธีบายศรีสู่ขวัญเรือแข่ง 6) พิธีอัญเชิญเรือแข่งลงสู่น้ำ โดยพิธีกรรมที่ 1)-5) จะดำเนินเมื่อมีการขุดเรือแข่งขึ้นใหม่ และพิธีที่ 5)-6) จะดำเนินการก่อนการแข่งขัน บทบาทผู้ประกอบพิธี ได้แก่ การจัดเตรียมเครื่องประกอบพิธี การประกอบพิธีกรรม และสร้างขวัญกำลังใจแก่ฝีพายและประชาชนในหมู่บ้าน
จากเดิมที่เคยใช้เรือในวิถีชีวิตเพื่อการไปมาหาสู่ใช้เป็นขบวนทอดกฐิน ทอดผ้าป่า งานบุญประเพณีได้ค่อย ๆ พัฒนาจนกลายเป็นประเพณีที่มีการแข่งขันเพื่อความสามัคคีของคนในชุมชน หากหมู่บ้านใดวัดใดประสงค์ให้มีการแข่งขันเรือในงานประเพณีตานก๋วยสลาก ก็จะมีใบฎีกาบอกบุญและเชิญไปยังคณะศรัทธาต่าง ๆ ที่อยู่ต่างหมู่บ้านต่างตำบลออกไป สมัยก่อนมีกฎกติกาง่าย ๆ เพียงตั้งลำเรือ เมื่อหัวเรือตรงกันก็เริ่มการแข่งขันได้ ไม่มีการคัดแยกประเภทเรือ รางวัลที่ได้ก็เป็นเพียงเหล้าขาวใส่กระบอกไม้ไผ่ และเปลี่ยนเป็นตะเกียงเจ้าพายุพร้อมน้ำมันก๊าด 1 ปี๊บ ในสมัยที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้กัน ใครชนะก็ตีฆ้องกลองพับพาง บ้างก็ลุกฟ้อน พายเรือกลับบ้านอย่างมีความสุข
ในปี พ.ศ.2551 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลเรือใหญ่ ประเภทเรือเร็ว ให้แก่ชาวอำเภอเวียงสา ต่อมาในปี พ.ศ.2552 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลพระราชทานเรือแข่งประเภทเรือเร็ว รวม 3 ประเภท คือ เรือใหญ่ (ฝีพายตั้งแต่ 48-58 คน) เรือกลาง (ฝีพายตั้งแต่ 35-40 คน) และเรือเล็ก (ฝีพายตั้งแต่ 25-30 คน) ซึ่งในปี พ.ศ.2555 อำเภอเวียงสาได้จัดการแข่งเรือเอกลักษณ์เมืองน่าน และปี พ.ศ.2556 ได้เพิ่มการแข่งขันเรือเอกลักษณ์เมืองน่าน ประเภทเรือมะเก่า ซึ่งการแข่งขันไม่ได้เน้นแพ้ชนะ แต่มุ่งความสนใจไปที่การนำเสนอความเป็นอดีตของประเพณีแข่งเรืออำเภอเวียงสา ดังจะเห็นได้จากการแต่งกายของฝีพาย ที่จะต้องสวมเสื้อหม้อห้อม คาดผ้าขาวม้า แสดงวิถีชีวิตของคนเมืองน่านในอดีต ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่บนเรือต่างพากันส่งเสียงโห่ร้อง ฟ้อนรำกันด้วยความสนุกสนาน ในขณะที่เรือกำลังล่องเข้าสู่ร่องน้ำ สร้างความประทับใจแก่ชาวอำเภอเวียงสา และนักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมงานยิ่งนัก
รายการอ้างอิง
กวินธร เสถียร และพัชรินทร์ สิรสุนทร. คู่มือส่งเสริมความเข้าใจ เอกลักษณ์เรือแข่งเวียงสา และส่งเสริมสุขภาพเชิงสร้างสรรค์. พิษณุโลก: มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2557.
กวินธร เสถียร และพัชรินทร์ สิรสุนทร. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ การพัฒนานวัตกรรมทางสังคมเพื่อส่งเสริมสุขภาพเชิงสร้างสรรค์ในประเพณีแข่งเรือ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน.พิษณุโลก: มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2557.
สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า. แข่งเรือปลอดเหล้าจังหวัดน่าน พลังการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ: สำนักงาน, 2554.
ที่มาของภาพประกอบ
อนุรัตน์ วัฒนาวงศ์สว่าง. แข่งเรือเมืองน่าน บูชาพญานาค สานตำนานเชื่อมความสามัคคี. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2566, จาก: https://www.nairobroo.com/travel/boat-race-in-naan/
เรียบเรียงโดย: นางสาวอลิษา สรเดชบรรณารักษ์ชำนาญการ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 2076 ครั้ง)