อานม้าประดับมุก

         อานม้าประดับมุก

         แบบศิลปะ : รัตนโกสินทร์

         ลักษณะ : เครื่องรองนั่งบนหลังม้าทำจากไม้ เป็นแท่นวงรีและแอ่นโค้งทาสีแดง เจาะช่องตรงกลางตามแนวยาวสำหรับวางผ้าบุนวม และด้านข้างเจาะช่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กสำหรับผูกสายโกลน มีเชิงยื่นออกมาเป็นขามุมมนด้านละสองข้าง ติดห่วงกลมทำจากโลหะใช้คล้องสายเหาและเครื่องผูก พนักรอบนอกประดับมุก ทำจากชิ้นเปลือกมุกขนาดเล็กต่อกันปูพื้นจนเต็ม ขอบรอบนอกทำจากโลหะตีลายวงกลมเรียงต่อกัน พนักด้านหลังค่อนข้างเตี้ยตกแต่งด้วยโลหะเส้นแบนทำเป็นลวดลายก้านขด ส่วนพนักด้านหน้าสูงมีความโค้งเว้าปลายงอน ใช้คล้องวางเก็บสายบังเหียน ตกแต่งด้วยโลหะเส้นแบนผูกลายเป็นก้านขดคล้ายรูปหัวใจสองดวงหัวปลายเข้าหากัน

         ความสำคัญ : อานม้าประดับมุกสำหรับขุนนาง ใช้เทคนิคการตกแต่งด้วยงานประดับมุก ทำเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็กเรียงต่อกัน และทำโลหะเป็นเส้นลายก้านขดวางบนมุกอีกชั้นหนึ่ง เป็นศิลปวัตถุที่ต้องอาศัยความประณีตและความชำนาญของช่างฝีมือ โดยพระยาเพ็ชรพิชัย (ทองจีน) ทำให้แก่บุตรในงานเกียรติยศฯ คือเจ้าพระยาสุรบดินทร์ (พร จารุจินดา) เป็นบุคคลที่มีความสำคัญได้รับพระราชทานนามสกุล “จารุจินดา” ทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก อุปราชมณฑลพายัพ และองคมนตรีสมัยรัชกาลที่ 6

         สันนิษฐานว่าเจ้าพระยาสุรบดินทร์คงมีความเชี่ยวชาญในการบังคับม้า ได้เข้ารับราชการ พ.ศ. 2428 รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นนายรองฉันมหาเล็กเวรศักดิ์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และต่อมาเมื่อพ.ศ. 2429 ได้เลื่อนเป็นจ่าห้าวยุทธการในกรมพระตำรวจขวา จากการแสดงขี่ม้ารำทวนถวายทอดพระเนตรหน้าพลับพลาในงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ36 ซึ่งคุณหญิงชอุ่ม สุรบดินทร์ได้มอบเครื่องม้าโบราณที่ใช้ในการขี่ม้ารำทวนชุดนั้นให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพร้อมกันด้วย ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

         ชนิด : ไม้ทาสีแดง โลหะ ประดับมุก

         อายุ/สมัย : พุทธศตวรรษที่ 25

         ประวัติ/ตำนาน : เป็นของพระยาเพ็ชรพิชัย (ทองจีน จารุจินดา) ผู้เป็นบิดาเจ้าพระยาสุรบดินทร์ (พร จารุจินดา) ทำให้แก่บุตรของท่านในงานเกียรติยศฯ ได้รับมอบจากคุณหญิงชอุ่ม สุรบดินทร์ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498

 

แสดงภาพวัตถุหมุน คลิกที่นี่ https://smartmuseum-v2.finearts.go.th/3d_object/?obj=52876

 

ที่มา: https://smartmuseum.finearts.go.th

(จำนวนผู้เข้าชม 10 ครั้ง)

Messenger