พัดรองที่ระลึกในงานเฉลิมพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ ณ พระราชวังบางปะอิน

         พัดรองที่ระลึกในงานเฉลิมพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ ณ พระราชวังบางปะอิน

         ลักษณะ : พัดเปรียญฆราวาสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ พื้นพัดเป็นผ้าตาดทองสีแดง ปักดิ้นทองและไหม ตรงกลางปักลายกลีบบัว ประดับเลื่อมขลิบทองเป็นแนวรัศมีและกระหนกล้อมรอบ ปักขอบปัดเป็นเส้นคั่นและกรอบกระหนก ด้ามไม้คาดกลางทาบตับพัด ตรงกลางทำเป็นปุ่มนูนสองด้าน ยอดพัดเป็นงากลึงรูปหัวเม็ด มีงาแกะสลักลายกระหนกตรงคอพัดรองรับขอบพัดด้านล่าง ปลายเป็นสันงานช้างกลึง มีขนาดเล็กกว่าพัดยศทั่วไป สำหรับฆราวาสที่มีความรู้ความสามารถสอบได้เปรียญ 9 ประโยค รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานแด่พระบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ซึ่งนับเป็นพัดพิเศษ

         ความสำคัญ : ตาลปัตร หรือพัดหน้านาง ตัวพัดทำจากผ้าพื้นสีแดง ปักลายด้วยดิ้นเลื่อมเป็นริ้ว ด้ามพัดทำจากไม้ ยอดพัดและส้นพัดทำจากงาช้าง สันนิษฐานว่าเป็นพัดเปรียญ 5 ประโยค สำหรับฆราวาส ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์

         คำว่า ตาลปัตร หรือ ตาลิปัตร นั้น มาจากคำว่า ตาล หมายถึง ชื่อต้นไม้ประเภทปาล์ม และคำว่า ปัตร หมายถึง ใบ ดังนั้น ตาลปัตร จึงแปลได้ว่า ใบตาล 7 ส่วนราชบัณฑิตยสภาให้ความหมายคำว่า ตาลปัตร หมายถึง พัดทำด้วยใบตาล มีด้ามยาว สำหรับพระภิกษุถือบังหน้าในพิธีกรรมเช่นในเวลาให้ศีล ต่อมาอนุโลมเรียกพัดที่ทำด้วยผ้าหรือไหมซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้นว่า ตาลปัตร หรือตาลิปัตร 8

         ธรรมเนียมพระภิกษุถือตาลปัตรในการสวดแสดงธรรม และการถวายพัดยศเป็นเครื่องประกอบสมณศักดิ์ให้แก่พระภิกษุนั้น มีหลักฐานปรากฏว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาเผยแพร่ยังดินแดนประเทศไทย เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นอย่างช้า

         พัดเปรียญ เป็นพัดที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระภิกษุสามเณร สันนิษฐานว่ามีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ที่มีการแบ่งสีพัดตามลำดับชั้นนั้นเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้แก่ สีเขียว หมายถึง พัดเปรียญธรรม 3 ประโยค สีน้ำเงิน หมายถึง พัดเปรียญธรรม 4 ประโยค สีแดง หมายถึง พัดเปรียญธรรม 5 ประโยค และสีเหลือง หมายถึง พัดเปรียญธรรมตั้ง 6 ประโยคขึ้นไป 9 นอกจากนี้พัดเปรียญยังพระราชทานแก่

         คฤหัสถ์ผู้มีความชำนาญในภาษาบาลีสันสกฤตถึงขั้นเปรียญธรรม ทั้งนี้การพระราชทานพัดเปรียญแก่คฤหัสถ์ มีปรากฏด้วยกัน 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพัดเปรียญ 5 ประโยคให้แก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ผู้ได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นบัณฑิตทางอรรถคดีธรรมจารีตในพระพุทธศาสนาจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระมหาสมณเจ้า ครั้งที่สองเกิดขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพัดเปรียญเป็นเกียรติยศให้แก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ผู้ซึ่งเถรสมาคมยกย่องว่าเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในภาษาบาลีเทียบเท่าเปรียญธรรม 5 ประโยค

         ขนาด : ยาว 97 กว้าง 36

         ชนิด : ผ้าแพร ไม้

         อายุ/สมัย : รัตนโกสินทร์ พุทธศักราช 2432

 

แสดงภาพวัตถุหมุน คลิกที่นี่ https://smartmuseum-v2.finearts.go.th/3d_object/?obj=64875

 

ที่มา: https://smartmuseum.finearts.go.th

(จำนวนผู้เข้าชม 11 ครั้ง)

Messenger