กาเมลัน : เครื่องดนตรีชวาในสมัยรัชกาลที่ ๗

          กาเมลัน : เครื่องดนตรีชวาในสมัยรัชกาลที่ ๗

          หากใครได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมเปิดบ้านคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คงสะดุดตากับชุดเครื่องดนตรีภายในคลังโบราณวัตถุศิลปวัตถุ ประเภทโลหะ อันมีลักษณะคล้ายคลึงกับปี่พาทย์ไทย แต่มีรูปแบบแปลกตาไป เรียกว่า “กาเมลัน” 

          ตามประวัติระบุว่าเจ้าฟ้าสุสุฮูนัน ปากูบูโวโนที่ ๑๐ (Raden Mas Sayyidin Malikul Kusna : Sri Susuhunan Pakubuwana X) ผู้ครองนครสุระการ์ตา ได้ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จประพาสชวา พุทธศักราช ๒๔๗๒

          ในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวว่า “...สุนันพาเราไปดูเครื่องกำมะลังที่ถวายฉัน ว่าเป็นของเก่ากว่าร้อยปีแต่ทาสีใหม่ มีฆ้องต่างๆอย่างที่เล่าแล้ว มีระนาดทองหลายอัน มีแปลกกว่าที่เคยเห็นคือกระจับปี่แกมขิม มีสายไม่สู้มาก วางเท ๆ กับพื้นดีดด้วยเล็บเสียงแหลมเบา ๆ สุนันว่าเล่นเองได้และว่าเล่นซอซิงเรียกว่าระบับก็ได้ ฉันบอกว่าฉันก็เล่นระบับได้เหมือนกัน แกฮาตังชี้หน้าว่านั่นแน่ สนุกใหญ่โต...”

          การเสด็จประพาสชวาครั้งนี้ทางราชสำนักสุระการ์ตาได้ประพันธ์บทเพลงพร้อมกับบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีกาเมลัน ถวายสำหรับเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีชื่อว่า “เพลงลา-ดรังสิเยม (Ladrang Siyem) โดยนำเพลงสรรเสริญพระบารมีของไทยมาประพันธ์ขึ้นใหม่ในรูปแบบของเพลงกาเมลันชวา และบันทึกด้วยอักษรชวาโบราณไว้ในจดหมายเหตุดนตรีชวา เรียกว่า “Serat Saking Gotek”

          เมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๒ เครื่องดนตรีกาเมลัน (ชุดเครื่องใหญ่) นี้เดินทางมาถึงไทย ทางราชสำนักได้ดำเนินการจัดแบ่งเครื่องดนตรีชุดนี้เป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนหนึ่งมอบให้สำนักการสังคีต กรมศิลปากร และอีกส่วนมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ณ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 

ด้วยเหตุนี้ทำให้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าราชสำนักเคยได้รับเครื่องดนตรีกาเมลันมา ๒ ชุด โดยการแบ่งเครื่องดนตรีชุดเครื่องใหญ่ออกเป็น ๒ ส่วนนั้น ไม่สอดคล้องกับหลักการบรรเลงดนตรี เนื่องจากมีระดับเสียงแตกต่างกันทำให้รูปแบบการประสมวงไม่สมบูรณ์

          เครื่องดนตรีกาเมลันนี้ เป็นรูปแบบฝีมือช่างสุระการ์ตา มีอักษรย่อ “P.B X” มาจากคำว่า Pakubuwono X ใช้เรียกลำดับของผู้ครองนครสุระการ์ตา ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตของเครื่องดนตรีกาเมลันระหว่างราชสำนักสุระกาตาร์กับยอร์กยากาตาร์ คือการแกะสลักลวดลายบนเครื่องดนตรี โดยเครื่องดนตรีกาเมลันของสุระกาตาร์มักมีความซับซ้อนของลวดลาย มีเอกลักษณ์เป็นการฉลุโปร่งลายเถาวัลย์พืชและมังกร ส่วนทางยอร์กยากาตาร์จะนิยมสลักลวดลายพรรณพฤกษา นอกจากนี้ยังมีลูกระนาดของเครื่องดนตรีซารอน และจำนวนเครื่องดนตรีประกอบวงที่แตกต่างกันด้วย

          คำว่า “ระเด่นมาส” หมายถึง ผู้มีสายเลือดอันสูงศักดิ์ ใช้สำหรับเจ้าฟ้าและพระมหากษัตริย์

คำว่า Pakubuwana คือ พระนามอันเป็นธรรมเนียมของผู้สืบเชื้อสายจากราชวงศ์มาตาราม นิยมเรียกตามด้วยลำดับของผู้ปกครอง ส่วนคำว่า Susuhunan ใช้นำหน้านามของชนชั้นสูง 

 

 

อ้างอิง

ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตในคราวเสด็จประพาสเกาะชวา เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒. พระธิดาฯ ทรงพิมพ์แจกในงานอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับคืนสู่กรุงเทพมหานคร เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๙๒. พระนคร: โรงพิมพ์อักษรนิติ. ๒๔๙๒.

ยุทธนาวรากร แสงอร่าม. ดุริยางค์แห่งราชสำนัก : นิทรรศการร่าลีก ๑๔๐ ปีพิพิธภัณฑ์ไทย. ศิลปากร. ๕๗ ,๕ (กันยายน-ตุลาคม ๒๕๕๗).

สุรศักดิ์ จำนงค์สาร. การลดทอนดนตรีชวาในกระบวนการยอมรับของดนตรีไทย. ใน เอกสารประกอบการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ ๑๑ เปิดโลกสุนทรีย์ในวิถีมนุษยศาสตร์. กรุงเทพฯ : มีดี กราฟิก, ๒๕๖๐.

อาทิตย์ โพธิ์ศรีทอง. กาเมลัน : วงดนตรีประจำชาติของอินโดนีเซีย. วารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ๑๙,๑ (กรกฎาคม-ธันวาคม ๒๕๕๙).

KAMASETRA- Keluarga Mahasiswa Seni Tradisi. Analisis Perbedaan Gamelan Yogyakarta dan Surakarta เข้าถึงเมื่อ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เข้าถึงได้จาก

https://kamasetra.wordpress.com/.../analisis-perbedaan.../

 

(จำนวนผู้เข้าชม 22 ครั้ง)