ชุดไม้กอล์ฟ (มือซ้าย) ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

         ก่อนก้าวเข้าสู่เดือนสุดท้ายปลายปี เนื่องในโอกาสวันที่ ๑ ธันวาคมตรงกับ “วันดำรงราชานุภาพ” อันเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แอดมินจึงขอเล่าเรื่องราวจากโบราณวัตถุศิลปวัตถุ คือ ชุดไม้กอล์ฟ (มือซ้าย) ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานมา ณ วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๔๗๔ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๔๘ เรื่อง "แจ้งความราชบัณฑิตยสภาเรื่องมีผู้ให้ของแก่พิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนคร"

         กีฬากอล์ฟ เริ่มมาจากชาวต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจการค้าในสยามสมัยรัชกาลที่ ๕ นำมาเล่นและได้รับความนิยมแพร่หลาย จนกลายเป็นกีฬาสำหรับการพักผ่อนของเชื้อพระวงศ์และขุนนางสยาม

         ช่วงแรกมีการจัดตั้งสโมสรบางกอกกอล์ฟ (The Bangkok Golf Club) เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๘ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชบรมราชานุญาตให้เปิดสนามกอล์ฟแห่งแรก บริเวณ “สนามหลวง” หรือทุ่งพระสุเมรุ สำหรับจัดการแข่งขัน ทั้งนี้ยังมีการก่อตั้งสโมสรเชียงใหม่ “ยิมคานา” ของกลุ่มพ่อค้าและนักธุรกิจชาวอังกฤษที่เข้ามาทำสัมปทานป่าไม้อีกด้วย 

         กระทั่ง พ.ศ. ๒๔๔๔ จึงได้มีการจัดตั้งสโมสร “รอแยลสปอร์ตคลับ” และเริ่มก่อสร้างราชกรีฑาสโมสรกรุงเทพ เป็นสถานที่พักผ่อนและจัดกิจกรรมต่างๆ สำหรับรับรองสมาชิกชนชั้นสูงสยามและชาวต่างชาติ โดยเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับใช้บริการพื้นที่สาธารณะ

         ในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีการขยายพื้นที่ของสนามกอล์ฟไปตั้งอยู่นอกเมืองสำหรับพักผ่อนตากอากาศคือ สนามกอล์ฟหัวหิน และเสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดพร้อมกับทรงเล่นเป็นปฐมฤกษ์

         ต่อมาพ.ศ ๒๔๖๘ เจ้าพระยารามราฆพ ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก ได้เล็งเห็นว่าพื้นที่ของราชกรีฑาสโมสรและสนามกอล์ฟหัวหินไม่สะดวกต่อการเดินทาง จึงทูลขอพระบรมราชานุญาตสร้างสนามกอล์ฟบริเวณที่ตั้งกรมอัศวราช และมีนายเอ.โอ.โรบิน ชาวสก็อตแลนด์เป็นผู้ออกแบบ เรียกว่า “สนามกอล์ฟมหาดเล็ก” พร้อมทั้งจัดการแข่งขันตีกอล์ฟและขอพระราชทานถ้วยรางวัลจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งทรงโปรดกีฬาชนิดนี้อย่างมาก

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ สนามกอล์ฟมหาดเล็กได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สมาคมสโมสรกอล์ฟดุสิต ในพระบรมราชูปถัมภ์” โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นนายกสโมสร อีกทั้งยังทรงได้รับเชิญเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสโมสรอีกหลายแห่ง

         หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศสมัย ดิศกุล ก็หัดกอล์ฟตามพระบิดา ทั้งทรงอธิบายในหนังสือสิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ความว่า “... ส่วนความสัมพันธ์ทางส่วนพระองค์ ทูลกระหม่อมประชาธิปกฯกับเสด็จพ่อก็กลมเกลียวกันดี แม้เสด็จพ่อทรงแนะนำว่าเล่นกอล์ฟดี ก็ทรงเล่นจนติด...” และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีก็เล่นกอล์ฟด้วย

         แม้ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ยังคงมีลายพระหัตถ์ (จดหมาย) ถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เกี่ยวกับเรื่องราวกิจวัตรต่างๆ อยู่เสมอ “...แม้จนมีหอสมุดสำหรับหาหนังสืออ่านและมีที่ตีกอล์ฟด้วยสโมรสรที่เขาเชิญเปนสมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่ขาดแคลนอันใด ตัดไม่ได้แต่ความคิดถึงญาติและมิตรอย่างเดียวเท่านั้น” 

         หากท่านมีโอกาสได้เข้าไปภายในห้องเกียรติสถิตของวังวรดิศ อาจเคยเห็นมีชุดไม้กอล์ฟอีกชุดหนึ่ง ซึ่งความน่าสนใจของเครื่องกีฬานั้น คือชุดไม้กอล์ฟสำหรับผู้ถนัดมือซ้าย อันเป็นสินค้าคุณภาพดีที่นำเข้าจากต่างประเทศ

         ชุดไม้กอล์ฟ (มือซ้าย) นี้ เป็นเครื่องกีฬานำเข้าจากต่างประเทศ ครั้งแรกที่เข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ ๒๔๓๗ เล่นบริเวณท้องสนามหลวง มีชุดไม้กอล์ฟและแท่นวาง ประกอบด้วย หัวไม้หนึ่ง หัวไม้แฟร์เวย์ หัวไม้เหล็ก หัวไม้พัตเตอร์ และหัวไม้เวดจ์ รวมจำนวน ๘ ไม้ พร้อมลูกกอล์ฟ มีรายละเอียดดังนี้

หัวไม้หนึ่งประทับอักษร คำว่า “ARMY&NAVY C.S.L LONDON” เป็นสินค้าของบริษัทสัญชาติอังกฤษคือ The Army & Navy Store Co-Operative Society Limited เน้นส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้ ช่วงปี พ.ศ.๒๔๑๔-๒๔๗๗ ภายหลังได้มีการเปลี่ยนชื่อบริษัทผู้ผลิตและเจ้าของกิจการ

         หัวไม้แฟร์เวย์ประทับอักษร คำว่า “G.FORRESTER” สินค้าของบริษัทสัญชาติสก๊อตแลนด์นามว่า Geoge Forrester & Son Golf Club and Ball Markers ที่มีร้านค้าปลีกในประเทศอังกฤษ มีการจดสิทธิบัตรสินค้าและเปิดสโมสรกอล์ฟระหว่างปี ๒๔๑๔-๒๔๖๙ ก่อนปิดกิจการภายหลังเกษียณอายุ

         หัวไม้พัตเตอร์ มีลักษณะหัวไม้แบนยาวทำจากโลหะ ก้านทำจากไม้ และกริพเป็นเชือกหนังแบน มีตราประทับอักษร P มาจากคำว่า “PUTTER” และสัญลักษณ์วงกลม พร้อมข้อความ A&NCS (Army & Navy Cooperative Stores)

หัวไม้เหล็ก และหัวไม้เวดจ์ มีลักษณะเป็นหัวไม้แบนยาวมุมมน มีกริพทำจากเชือกหนังพันแกนไม้ ตราประทับค่อนข้างเลือนลางจากการใช้งาน

 

 

อ้างอิง

แจ้งความราชบัณฑิตยสภา เรื่องมีผู้ให้ของแก่พิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนคร. (๑๖ สิงหาคม ๒๔๗๔). ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๔๘ หน้า ๑๗๖๓.

พูนพิศมัย ดิศกุล, มจ. สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น. กรุงเทพฯ : มติชน ๒๕๕๗.

สบ ๒.๔๙/๔๙ เรื่องขอพระราชทานด้วยเงินในการแข่งขันตีกอล์ฟ ณ สนามมหาดเล็ก พ.ศ.๒๔๖๘

สบ ๒.๔๐/๖ กำหนดการประชุมกรรมการสโมสรกอล์ฟดุสิตในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. ๒๔๗๑ 

ศิลปวัฒนธรรม. ส่องการพักผ่อนแบบชนชั้นสูงสยาม อิทธิพลจากฝรั่ง ดูยุคเริ่มยอมถ่ายรูป สู่ฮิตพักตากอากาศ. เข้าถึงเมื่อ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_29754...

ศิลปวัฒนธรรม. จริงหรือไม่? “สนามหลวง” เคยเป็น “สนามกอล์ฟ” ของฝรั่งและไฮโซไทย สมัย ร.5 เข้าถึงเมื่อ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/old-photos-tell.../article_1265

หอสมุดวชิรญาณ. สาส์นสมเด็จ พุทธศักราช ๒๔๗๖. เข้าถึงเมื่อ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เข้าถึงได้จาก https://shorturl.asia/ab03K

 Antique Golf Clubs from Scotland. Scottish Golf History เข้าถึงเมื่อ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๖ เข้าถึงได้จาก https://www.antiquegolfscotland.com/antiq.../history.php3... 

Christopher Clarke Antiques. ARMY&NAVY C.S.L เข้าถึงเมื่อ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๖ เข้าถึงได้จาก https://campaignfurniture.com/artists/army-navy-csl

(จำนวนผู้เข้าชม 82 ครั้ง)