พระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ศิลปะอยุธยาตอนกลาง

         พระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ศิลปะอยุธยาตอนกลาง พุทธศตวรรษที่  ๒๑-๒๒ และพระพุทธรูปทองคำฐานบุด้วยเงิน ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น พุทธศตวรรษที่ ๒๔ ได้จากกรุภายในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า)

         วัดบวรสถานสุทธาวาส อยู่ในพื้นที่ของพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เดิมบริเวณนี้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๑ โปรดให้สร้างวัดประทานแก่หลวงชีนักนางแม้น ผู้เป็นมารดาของนักองค์อีและนักองค์ภาพระสนมเอกของพระองค์ เรียกว่า “วัดหลวงชี” 

         ต่อมาวัดนี้ชำรุดทรุดโทรมลง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๒ จึงโปรดให้รื้อวัดหลวงชีทำเป็นสวนเลี้ยงกระต่าย และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๓ ทรงอุทิศบริเวณสวนกระต่ายโปรดให้สร้างวัดขึ้นใหม่ พระราชทานนามว่า “วัดบวรสถานสุทธาวาส” เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และเพื่อทรงแก้บน หรือเฉลิมพระเกียรติเมื่อครั้งได้เสด็จยกกองทัพไปปราบกบฏเวียงจันทน์ในปีพุทธศักราช ๒๓๖๘  

         ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวการก่อสร้างได้แล้วเสร็จ มีการเขียนจิตรกรรมเรื่องตำนานพระพุทธสิหิงค์ล้อมรอบ โดยมีพระราชดำริให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ให้มาประดิษฐาน แต่ก็ได้ล้มเลิกไป

         “กรุ” หมายถึง ช่องว่างหรือห้องเล็ก ๆ ภายในสถูปเจดีย์ พระปรางค์ หรือพระอุโบสถ ทำไว้เพื่อบรรจุพระพุทธรูป พระพิมพ์ เครื่องราชูปโภค หรือพระบรมสารีริกธาตุ 

คติการสร้างกรุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพร้อมพระพุทธปฏิมาและเครื่องบูชาต่างๆ นั้น มีหลักฐานกล่าวถึงจำนวนมาก ทั้งตำนานการอัญเชิญพระบรมธาตุจากลังกามาบรรจุยังสถานที่ต่างๆ อาทิ ตำนานพระปฐมเจดีย์ และจารึกวัดบูรพาราม แสดงให้เห็นความเชื่อการรับพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ผ่านการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ สอดคล้องกับคติพระมหาธาตุประจำเมือง ความศักดิ์สิทธิ์ และการอุทิศถวายเป็นพุทธบูชา 

         จากคัมภีร์ปฐมสมโพธิกถาเรื่อง “ธาตุนิธานกรรม” (การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ) กล่าวว่า “ครั้งพระมหากัสสปะรวบรวมและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในมหาสถูปกรุงราชคฤห์ ให้ขุดดินฝังพระธาตุลึกลงไป ๘๐ ศอก ...ทำรูปพระบรมโพธิสัตว์ ๕๕๐ ชาติ รูปพระอสีติ ๗ องค์ รูปพระเจ้าสุทโธทนะ พระนางสิริมหามายา และสหชาติทั้ง ๗ พร้องเครื่องราชปสาธนอลังการาภรณ์ อันพระเจ้าอชาตศัตรูถวายภายในเป็นการสัการบูชา แล้วปิดทวารห้องพระบรมธาตุอย่างมั่นคง”

         ในคัมภีร์มหาวงศ์พงศาวดารลังกา กล่าวถึง “...สมัยพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยโปรดให้สร้างธาตุคัพภจรนะ (ห้องพระบรมสารีริกธาตุ) เป็นห้องสี่เหลี่ยมขาวเหมือนก้อนเมฆตกแต่งอย่างวิจิตร ...ตั้งพระพุทธรูปทองคำประดับรัตนะบนบัลลังก์แวดล้อมด้วยพระพรหมถือฉัตร ท้าวสักกะถือสังข์ พระปัญจสิขรถือพิณ พญากาฬนาค และพญามารพันมือขี่ช้างพร้อมบริวาร สร้างรูปพุทธประวัติ รูปชาดก ท้าวมหาราชประจำ ๔ ทิศ รูปยักษ์ เทวดาประนมมือ ฟ้อนรำ ประโคมเครื่องดนตรี ถือสิ่งของเครื่องบูชาต่างๆ มีแถวตะเกียงสว่างไสว มุมทั้งสี่กองด้วยทอง แก้วมณี กองไข่มุก และกองเพชร จากนั้นกระทำธาตุนิธานะ แล้วก่อปิดสถูปไว้...”

         จากหลักฐานข้างต้น ทำให้เห็นว่าคติความเชื่อการสร้างกรุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเครื่องอุทิศถวายฯ ยังได้ส่งต่อมายังสมัยอยุธยาด้วยทั้งจากพระปรางค์วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดพระศรีมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และการบรรจุพระพุทธรูปภายในพระอุระของพระมงคลบพิตร

         ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ยังมีการพบกรุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพร้อมพระพุทธรูปและเครื่องบูชาต่างๆ ทั้งภายในสถูปเจดีย์และเพดานพระอุโบสถด้วย

เดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๗ ได้มีการสำรวจพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส และได้พบพระพุทธรูปพร้อมเครื่องอุทิศถวายต่างๆ จำนวนหนึ่งภายในเพดานของพระอุโบสถ ซึ่งสร้างมาจากแก้วผลึกหรือหินมีค่า ทองคำ และสัมฤทธิ์ สามารถกำหนดอายุได้ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น 

         โดยนำไปจัดแสดงอยู่ภายในส่วนของมุขกระสันด้านหลังพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เรียกว่า “ห้องมหรรฆภัณฑ์” เป็นห้องนิรภัยสำหรับเก็บรักษาเครื่องทองหลวง และของมีค่าหายาก อันเป็นสมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและได้จากการขุดค้นหรือสำรวจทางโบราณคดี ต่อมามีการปรับปรุงพื้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จึงได้ย้ายมาเก็บรักษา ณ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แต่ได้มีการนำพระพุทธรูปแก้วผลึกส่วนหนึ่งออกมาให้ประชาชนได้สักการะบูชาตามโอกาสสำคัญด้วย

 

 

อ้างอิง

กรมศิลปากร. โบราณวัตถุ กรุพระเจดีย์ วัดพระศรีสรรเพชญ์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร ๒๕๖๔

กรมศิลปากร. วัดบวรสถานสุทธาวาส “วัด”ในเขตพระราชวังบวรสถานมงคล เข้าถึงเมื่อ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๖. เข้าถึงได้จาก https://shorturl.asia/T5ezS

กรมศิลปากร. สักการะพระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน : ทศพุทธปฏิมาวังหน้า. เข้าถึงเมื่อ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๖. เข้าถึงได้จาก https://shorturl.asia/OhEQ2

กรมศิลปากร. พระพุทธรูปและพระพิมพ์จากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา : วิเคราะห์รูปแบบ แนวคิดและคติความเชื่อในการบรรจุในกรุเจดีย์. เข้าถึงเมื่อ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๖. เข้าถึงได้จาก https://shorturl.asia/BukAO

(จำนวนผู้เข้าชม 290 ครั้ง)