ประเพณี “เทศน์มหาชาติ”

ประเพณี “เทศน์มหาชาติ” ซึ่งนิยมจัดในเดือนสิบสอง ตรงกับประเพณี “ตั้งธัมม์หลวง”ของภาคเหนือ นับเป็นพิธีใหญ่คู่กับประเพณีทานสลากภัตต์ และประเพณี “บุญผะเหวด” ตามฮีตสิบสองทางภาคอีสาน

คำว่า “มหาชาติ” หมายถึง พระเวสสันดรชาดก มีความสำคัญด้วยบารมีของพระโพธิสัตว์ครบบริบูรณ์ ๑๐ ประการ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชพิธีเทศน์มหาชาติถือเป็นการบำเพ็ญกุศลครั้งใหญ่ภายในพระบรมมหาราชวัง มีการประดับตกแต่งพรรณไม้ล้อมรอบธรรมมาสน์ และจัดเครื่องบูชาถวายกัณฑ์เทศน์อย่างเอิกเกริก

สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงเกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ทำกระจาดใหญ่บูชากัณฑ์เทศนา โปรดฯ ให้นิมนต์พระพิมลธรรม พระธรรมอุดม พระพุทธโฆษาจารย์ มาถวายพระธรรมเทศนาคาถาพัน โดยพระองค์ได้ถวายไตรจีวรและบริขาร พร้อมด้วยเครื่องกัณฑ์เทศน์บรรทุกเรือพระที่นั่งบรรลังก์ประดับโคมแขวนและปักธงมังกรจอดเทียบไว้หน้าพระตำหนักแพ ครั้งจบกัณฑ์ก็มีเรือคู่ชักและเรือพายข้าราชการมาส่งพระภิกษุสงฆ์ถึงพระอาราม

ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่า มีเครื่องบูชาถวายกัณฑ์มหาชาติครั้งนี้ ถึง ๑๓ กระจาด ตั้งหน้ากำแพงพระมหาปราสาทมาจนถึงหน้าโรงทองและหอนาฬิกา สำหรับประกวดประชันกัน โดยคุณแว่น (คุณเสือ) พระสนมเอกได้ใส่ทาสเด็กศีรษะจุกแต่งตัวหมดจดถวายพระสงฆ์ไปเป็นสิทธิ์ขาดด้วย

พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน กล่าวถึง พระราชพิธีเดือนอ้าย : พระราชกุศลเทศนามหาชาติ มีการตกแต่งเครื่องบูชาเทศนาภายในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ความว่า

“...หลังพระที่นั่งเศวตฉัตรผูกกิ่งไม้ มีดอกไม้ร้อยห้อยย้อยเป็นพวงพู่ผูกตามกิ่งไม้ทั่วไป ...ตั้งหมากพนมพานทองมหากฐินสองพาน หมากพนมใหญ่พานแว่นฟ้าสองพาน แล้วพานนี้เปลี่ยนเป็นโคมเวียน มีต้นไม้เงินทองตั้งรายสองแถว กระถางต้นไม้ดัดลายคราม โคมพโอมแก้วรายตลอดทั้งสองข้าง หน้าแถวมีกรงนกคิรีบูน ซึ่งติดกับหม้อแก้วเลี้ยงปลาทองตั้งปิดช่องกลาง ปลายแถวตั้งขันเทียนคาถาพัน ตามตะเกียงกิ่งที่เสาแขวนฉากเทศน์ทั้ง ๑๓ กัณฑ์...”
ทั้งนี้ยังมีธรรมเนียมให้

แสดงให้เห็นเครื่องบูชากัณฑ์เรียงรายจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ "โคมเวียน" เป็นโคมชนิดที่มีที่ครอบหมุนได้ บนที่ครอบเขียนรูปภาพลำดับเรื่องในพระพุทธศาสนา เมื่อจุดไฟแล้วที่ครอบจะหมุนไปช้า ๆ ทำให้รูปภาพบนที่ครอบหมุนเวียนตามไปด้วย ใช้เป็นเครื่องตั้งดูเล่นตามงานในเทศกาลต่างๆ

ทั้งนี้ยังปรากฏธรรมเนียมให้พระราชโอรสฝึกหัดกัณฑ์เทศน์ถวายด้วย ครั้งพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ ๕) เป็นสามเณรและได้ถวายเทศน์นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้จัดเครื่องบูชากัณฑ์สำหรับเฉพาะพระองค์ อันเป็นกระจาดใหญ่รูปเรือสำเภาบริเวณหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ว่า “...พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ คราวผนวชเป็นสามเณรได้ถวายกัณฑ์เทศน์แทบทุกองค์ โปรดให้พระราชครูพิราม (ชู) อยู่ในกรมราชบัณฑิตเป็นผู้ฝึกหัด”

จากพระราชพิธีพระราชกุศลเทศนามหาชาติภายในพระบรมมหาราชวัง นับเป็นพระราชพิธีบำเพ็ญราชกุศล ซึ่งทำให้เห็นความเลื่อมใสศรัทธาและสถานะองค์ศาสนูปถัมภก ตามเจตนาน้อมในพระบรมพุทธาภิเษกสมบัติ อันได้นำพาสรรพสัตว์เข้าสู่นิพพานอย่างสมบูรณ์

_____________________

ภาพประกอบ : โคมเวียน สมัยรัชกาลที่ ๒ (พุทธศตวรรษที่ ๒๔) ภายในคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

ประกอบด้วย ตัวโคมและที่ครอบ ทำรูปร่างคล้ายมณฑปทรงแปดเหลี่ยม มีสามชั้น แต่ละชั้นทำมุขโถงยื่นออกมา ๔ ทิศ มีพนักระเบียง ผนังลงรักปิดทองประดับกระจกสี และเจาะเป็นช่องหน้าต่างลายอย่างเทศ เพื่อให้มองเห็นจิตรกรรมเวสสันดรชาดก มีหลังคาทรงกระโจมยอดดอกบัวตูม เมื่อจุดไฟแล้วครอบนั้นหมุนได้ สำหรับใช้ประกอบสถานที่ในพิธีเทศน์มหาชาติ

.

.

อ้างอิง
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ" พระราชพิธีสิบสองเดือน". กรุงเทพฯ: บรรณาการ, ไม่ปรากฎปีที่พิมพ์.
ธนิต อยู่โพธิ์. ตำนานเทศน์มหาชาติ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๒๔.
จารุณี อินเฉิดฉาย และคณะ. คุณธรรม จริยธรรม ตามรอยพระโพธิสัตว์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. ๒๕๕๑
เทศม์หาชาติ อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนางมรรคาคำณวน ( ละมูล ปิ่นแสง ). กรุงเทพฯ : วรวุฒิการพิมพ์. ๒๕๑๖.
ประสงค์ รายณสุข และสมิทธิพล เนตรนิมิตร .ประเพณีการเทศน์มหาชาติ ใน วารสารมจร พุทธศาสตร์ปริทรรศน์. ๒,๒(กรกฎาคม-ธันวาคม ๒๕๕๒)
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 1384 ครั้ง)