พัดเปรียญฆราวาส

         พัดเปรียญฆราวาส ซึ่งตามประวัติระบุเอาไว้ว่าได้รับจากพระเจริญโภคสมบูรณ์ กรมพระคลังข้างที่ ส่งมอบให้กรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๔ 

มีลักษณะเป็นพัดหน้านาง พื้นพัดทำจากผ้าตาดสีแดง ตรงกลางปักลายด้วยดิ้นทองเป็นกลีบบัว ประดับดิ้นเลื่อมขลิบทองเป็นแนวรัศมีและกระหนกแซม ขอบพัดปักเป็นเส้นคั่นและกระหนกด้ามทำจากไม้คาดกลางทาบตับพัด ตรงกลางทำเป็นปุ่มนูนสองด้าน ยอดพัดเป็นงากลึงรูปหัวเม็ด มีงาแกะสลักลายกระหนกตรงคอพัดรองรับขอบพัดด้านล่าง ปลายเป็นสันงานช้างกลึง นับเป็นพัดพิเศษและมีขนาดเล็กกว่าพัดยศทั่วไป 

         สันนิษฐานว่าเป็นพัดเปรียญ ๕ ประโยค สำหรับฆราวาส ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ครั้งทรงแปลหนังสือนิบาตชาดกถวาย เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๗ 

         พัดเปรียญ เป็นพัดที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระภิกษุ สามเณร สันนิษฐานว่ามีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่การแบ่งสีพัดตามลำดับชั้นนั้นเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้แก่ สีเขียว หมายถึง พัดเปรียญธรรม ๓ ประโยค สีน้ำเงิน หมายถึง พัดเปรียญธรรม ๔ ประโยค สีแดง หมายถึง พัดเปรียญธรรม ๕ ประโยค และสีเหลือง หมายถึง พัดเปรียญธรรมตั้ง ๖ ประโยคขึ้นไป 

         นอกจากนี้พัดเปรียญยังพระราชทานแก่ฆราวาสผู้มีความชำนาญในภาษาบาลีสันสกฤตถึงขั้นเปรียญธรรม ทั้งนี้การพระราชทานพัดเปรียญแก่ฆราวาส มีปรากฏด้วยกันถึง ๒ ครั้ง คือ 

         ครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพัดเปรียญ ๕ ประโยคให้แก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ผู้ได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นบัณฑิตทางอรรถคดีธรรมจารีตในพระพุทธศาสนาจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

         ส่วนครั้งที่สองเกิดขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพัดเปรียญเป็นเกียรติยศให้แก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ผู้ซึ่งเถรสมาคมยกย่องว่าเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในภาษาบาลีเทียบเท่าเปรียญธรรม ๕ ประโยค  

พัดเปรียญสำหรับฆราวาสที่มีขนาดเล็กพิเศษนี้ จึงนับเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่หาชมได้ยากยิ่ง

 

 

แหล่งที่มา

๑. ณัฏฐภัทร  จันทวิช.  ตาลปัตร พัดยศ และสมณศักดิ์.  เข้าถึงเมื่อ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖, เข้าถึงได้จาก https://www.saranukromthai.or.th/sub/other_sub.php?file=encyclopedia/book32.html

๒. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.  ตาลปัตร.  เข้าถึงเมื่อ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖ เข้าถึงได้จาก https://dictionary.orst.go.th/

๓. พระมหานิรุตตุ์ ฐิตสํวโร.  คู่มือสมณศักดิ์ พัดยศ ฉบับสมบูรณ์ (ปรับปรุงแก้ไข พ.ศ. ๒๕๕๒ เพิ่มเติมพัดใหม่ ๕ ตำแหน่ง) (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ธงธรรม,๒๕๕๒), ๑๙๐-๑๙๓.

๔. ชินดนัย ไม้เกตุ และหฤษฎ์ แสงไพโรจน์.  พระประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์และประวัติชุมชนวังกรมพระสมมตอมรพันธุ์.  เข้าถึงเมื่อ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๖, เข้าถึงได้จาก https://urbanally.org/article/History-of-living-old-building

(จำนวนผู้เข้าชม 1248 ครั้ง)

Messenger