ติ้วงานับพระ

         ติ้วงานับพระ

         รัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕ (รัชกาลที่ ๔-๕)

         ได้มาจากวัดหงส์รัตนาราม เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๒

         “ติ้ว” หมายถึง ไม้ซี่เล็กๆ ใช้สำหรับเป็นคะแนน มักทำรูปทรงอย่างเรียบง่าย เน้นความมั่นคงแข็งแรง อาจประดับตกแต่งด้วยฝีมืออย่างประณีต สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายเป็นเครื่องใช้สำหรับนับจำนวนพระสงฆ์ เมื่อลงอุโบสถสวดมนต์เช้า-เย็นตามธรรมเนียมสงฆ์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นกิจวัตรที่จะต้องลงอุโบสถไหว้พระสวดมนต์เป็นประจำทุกวัน

         “ติ้วนับพระ” จากวัดหงส์รัตนาราม ทำเป็นชุดเรือนไม้ ประกอบด้วย ตัวเรือนไม้ ติ้วงา กระจกครอบ และหีบไม้ คือ 

หีบไม้รองรับตัวเรือน ทำจากไม้เป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ารูปแบบฐานบัวคว่ำ-บัวหงาย ฐานล่างทำเป็นแข้งสิงห์และนมสิงห์ บริเวณท้องไม้ยืดสูงสลักเป็นช่องสี่เหลี่ยม ด้านกว้างด้านละ ๑ ช่อง และด้านยาว ด้านละ ๓ ช่อง ลงสีประดับตราโลหะรูปเทพเจ้ากรีกเป็นบุรุษมีปีกถือหม้อน้ำ เทลงมาบนถาดรอบรับด้วยก้านขดออกช่อดอก

         ตัวเรือนทำจากไม้ มีฐานทำจากไม้ขัดกันรูปกากบาทสองด้านสลักลายแข้งสิงห์และลายพันธุ์พฤกษาแบบตะวันตก รองรับเป็นเสาสี่เหลี่ยมเซาะร่องประดับหัวเม็ดรูปไข่ และคานเป็นซุ้มโค้ง ตรงกลางมีลายเครือเถาดอกพุดตาน

         ตัวติ้ว ทำจากงาแกะสลักป็นแผ่นบาง เกลารูปทรงเรียวยาวปลายแหลมมนคล้ายแผ่นฉลากสมุดไทย (บัญชักธรรม) เจาะรูแล้วร้อยด้วยเส้นลวดขึงเป็นราวไว้กับตัวเรือนไม้ มี ๒๕๐ ชิ้น ส่วนจำนวนติ้วที่ร้อยติดกับหลักขึ้นอยู่กับจำนวนพระสงฆ์ภายในพระอาราม  ทุกจำนวนนับที่ ๑๐ จะทำแผ่นติ้วงาเป็นยอดแบบเสาหัวเม็ด ส่วนคอคอดเรียวลง ให้แตกต่างจากแผ่นอื่นๆ บางพื้นที่จะคั่นด้วยเม็ดลูกปัดแก้วหรืองา เป็นภูมิปัญญาประดิษฐ์เพื่อให้สังเกตได้สะดวก 

         ส่วนกระจกครอบเป็นโครงไม้ติดกระจกรอบด้าน มีบานประตูสำหรับเปิดด้านข้าง สันนิษฐานว่าทำขึ้นภายหลังที่มีการเลิกใช้งานแล้ว

การใช้ติ้วนับพระควบคุมระเบียบสงฆ์ในการประกอบสมณกิจเป็นธรรมเนียมที่เกิดขึ้นในชั้นหลัง เนื่องจากพระอุโบสถมีการใช้งานเฉพาะสำหรับประกอบสังฆกรรม อาทิ การอุปสมบท การสวดปาฎิโมกข์ ส่วนการทำวัตรสวดมนต์ประจำวัน จะรวมกันที่หอสวดมนต์ ซึ่งสร้างขึ้นอยู่ในบริเวณหมู่กุฎิแต่ละคณะสงฆ์ 

         โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯกำหนดขึ้นด้วยถือว่าการสวดมนต์นั้นสำคัญอย่างมาก มีหลักฐานตั้งแต่ปฐมสังคายนา นับเป็นประเพณีให้พระสงฆ์ท่องจำและสวดสาธยายพร้อมกันเพื่อรักษาพระธรรมวินัย ต่อมามีการจดจารพระธรรมวินัยเป็ยลายลักษณ์อักษรแทนการท่องจำ แต่ยังคงถือธรรมเนียมพระสงฆ์สาธยายมนต์เป็นสำคัญอยู่ โดยมีข้อบังคับให้พระภิกษุบวชใหม่จะต้องจำบททำวัตรแต่ละบทให้ได้ตามกำหนดในแต่ละพรรษา

         และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทางด้านพระพุทธศาสนาหลายประการ ทำให้มีการกำหนดธรรมเนียมสงฆ์เคร่งครัดกว่าแต่ก่อน จึงเป็นธรรมเนียมการลงอุโบสถสวดมนต์เช้า-เย็นร่วมกันสำหรับพระสงฆ์ภายในพระอาราม และเริ่มมีการใช้เครื่องมือนับจำนวนสำหรับการควบคุมระเบียบ

         ปัจจุบันการใช้ติ้วนับพระตามพระอารามส่วนใหญ่เลิกร้างไปแล้ว เพราะกำหนดให้มีพนักงานจดบัญชีตรวจสอบจำนวนพระสงฆ์แทน แต่ยังคงมีการเก็บรักษาไว้ประจำอยู่ในพระอุโบสถของวัดต่างๆ

 

 

อ้างอิง 

เด่นดาว ศิลปานนท์. “ติ้วนับพระ”. ศิลปากร ๕๐, ๔ (กรกฎาคม-สิงหาคม). ๒๕๕๐

นริศรานุวัดติวงศ์. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา และดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. “สาสน์สมเด็จ เล่ม ๑๗”. พิมพ์ครั้งที่ ๒. องค์การค้าคุรุสภา. ๒๕๑๕

ราชบัณฑิตยสถาน. “พจนานุกรรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.๒๕๕๔” . กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, ๒๕๕๖.

 

(จำนวนผู้เข้าชม 597 ครั้ง)

Messenger