จารึกที่คนสับสนกับจารึกเมืองศรีเทพ


          จารึกที่คนสับสนกับจารึกเมืองศรีเทพ....

          จารึกบ้านหนองไม้สอ เป็นเสากลมรูปสัณฐานคล้ายดอกบัวตูม มีเส้นลวดบัวรอบ ฐานมีเดือยยาวเป็นรูปหมุดหรือตะปู ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็น “หลักเมืองศรีเทพ” สับสนกับจารึกเมืองศรีเทพ ตามพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ “ ...ศิลาจารึกพบที่เมืองศรีเทพครั้งนี้แปลกมาก สัณฐานคล้ายตะปูหัวเห็ด ข้างปลายที่เสี้ยมแหลมเป็นแต่ถากโกลน สำหรับฝังดินขัดเกลี้ยง...” 

ตามประวัติระบุว่าได้มาจากเมืองศรีเทพ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ คณะกรมการจังหวัดเพชรบูรณ์ส่งมาให้เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๔๘๑ นำเก็บรักษาไว้ที่คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๗

          อยู่ห่างจากจุดที่พบจารึกบ้านวังไผ่ไปทางทิศตะวันออก ๓ กิโลเมตร กำหนดเลขบัญชีวัตถุเป็นจารึก K.๙๗๙ ตาม Inscriptions du Cambodge โดยศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ให้ความเห็นว่าเป็นอักษรขอมสมัยเมืองพระนคร ภาษาขอม ๓ บรรทัด มีร่องรอยถูกอุด มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ กล่าวถึง เสตญ และบริวารหญิง (ไต) ๓ คน

          ภายหลังผู้ช่วยศาสตราจารย์กังวล คัชชิมา ได้ศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบตัวอักษร “ร” ในจารึกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีศักราชกำกับไว้ว่า มีลักษณะอักษรเส้นเดียวยาว ในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย มักจะเขียนไม่เป็นระเบียบ และตัวหนังสือแตกต่างจากฟูนัน-เจนละ 

อีกทั้งอักษรขอมสมัยเมืองพระนคร ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ มีพัฒนามาจากอักษรหลังปัลลวะ ทำให้ถอดเนื้อความได้ใกล้เคียงกัน อาจเปรียบเทียบได้กับคาถาเยธมฺมาอักษรปัลลวะและหลังปัลลวะที่มีความแตกต่างกันสังเกตจากพัฒนาการตัวอักษร

          จึงนับว่าจารึกหนองไม้สอเป็นอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ระยะแรก กำหนดอายุได้ราว พ.ศ. ๙๐๐-๑๐๐๐ กล่าวถึง ...ไวษฺณว ราม และลักษมณ... เนื้อความส่วนใหญ่ชำรุดเสียหาย แต่ยังคงแสดงให้เห็นความเชื่อและความรับรู้เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ของเมืองโบราณศรีเทพได้อย่างชัดเจน

 

 

อ้างอิงจาก :

กรมศิลปากร. “จารึกในประเทศไทย เล่ม ๑ อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๔”. กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๙.

กรมศิลปากร. “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ”. กรุงเทพฯ : สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี กรมศิลปากร, ๒๕๕๐

กังวล คัชชิมา. “จารึกพระเจ้ามเหนทรวรมัน”. โครงการวิจัยจากกองทุนสนันสนุนการวิจัย นวัตกรรมและการสร้างสรรค์ของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๖๒

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. “เรื่องเที่ยวที่ต่าง ภาค ๓ เล่าเรื่องเที่ยวมณฑล เพชรบูรณ์และเรื่องความไข้ เมืองเพชรบูรณ์”. กรุงเทพฯ: วิศัลย์การพิมพ์, ๒๕๑๙.

George Cœdès, “Nouvelles inscriptions de Si T’ep (K. 978, K. 979),” in Inscriptions du Cambodge vol. VII .Hanoi : Imprimerie d'Extrême-Orient, 1964, แปลโดย ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล

(จำนวนผู้เข้าชม 415 ครั้ง)

Messenger