เขี้ยววาฬและการออกเรือล่า

          เขี้ยววาฬและการออกเรือล่า

          คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้นำโบราณวัตถุศิลปวัตถุหายากมาจัดแสดงในนิทรรศการ “Museum Unveiling” เรื่องลึกเบื้องหลังพิพิธภัณฑ์ไทย ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ ๑๗-๑๙ กันยายน ๒๕๖๖ คือ

          เขี้ยววาฬสเปิร์ม (วาฬหัวทุย) แกะสลักเป็นภาพเรือล่าวาฬในมหาสมุทร มีข้อความว่า “Crew of Pacific killing a Sperm Whale”  อีกด้านหนึ่งแกะสลักภาพการตัดชิ้นส่วนของวาฬหัวทุย ใต้ภาพมีข้อความว่า “Ship Pacific cutting a Sperm Whale” เป็นศิลปะของกะลาสีเรียกว่าสคริมซอว์ (Scrimsham) เป็นที่นิยมในหมู่นักล่าวาฬ ทั้งในทวีปอเมริกาเหนือและออสเตรเลีย 

          วาฬเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่เคยถูกล่าเพื่อนำมาเป็นอาหาร บางกลุ่มชนถือว่าเป็นกิจกรรมสำหรับบุคคลที่มีกำลังและอายุเหมาะสม แสดงให้เห็นวัฒนธรรมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ จนกลายเป็นฤดูกาลหรือเทศกาลประจำปี อาทิ เทศกาลนาลุคกาทัคของชาวอินูเปียต

          ในช่วงศตวรรษที่ ๗ ของญี่ปุ่น ปรากฏหลักฐานบันทึก “โคจิกิ” กล่าวถึง จักรพรรดิจิมมุที่ทรงเสวยเนื้อปลาวาฬ และคำว่า "อิซานาโทริ“ คือ วัฒนธรรมการฆ่าวาฬด้วยดาบ และใช้อวนดักจับ ทั้งนี้สหรัฐอเมริกา แคนาดา นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์ ก็มีการล่าวาฬเพื่อการบริโภค โดยใช้ประโยชน์จากไขมันและกระดูกส่วนต่างๆ ซึ่งมีการพัฒนารูปแบบการล่าในศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ด้วยการออกเรือเป็นกลุ่มและใช้อาวุธประเภทหอก ต่อมาได้เปลี่ยนมารูปแบบการล่ามาเป็นการใช้อาวุธปืน 

          การล่าวาฬในเชิงพาณิชย์ได้รับความนิยมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยเป็นช่วงการขาดแคลนอาหาร จึงมีความพยายามแสวงหาอาหารรูปแบบใหม่ และมีการดัดแปลงเรือสำหรับรองรับการล่าวาฬด้วย ภายหลังการจัดตั้งองค์กร International Whaling Commission (IWC) ขึ้น มีการออกกฎหมายและควบคุมตามอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อควบคุมการล่าวาฬ ซึ่งจำกัดจำนวนการล่าวาฬสำหรับใช้ในการวิจัยและทางวิทยาศาสตร์มากกว่าการบริโภค

          นอกจากกระดูกวาฬที่ใช้ในการศึกษาธรรมชาติวิทยาของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแล้ว “เขี้ยววาฬ” ก็นับเป็นสมบัติล้ำค่าหายากของนักสะสม มีความเชื่อว่าสามารถคุ้มครองนักเดินเรือให้แคล้วคลาดปลอดภัย หากนำมาแกะสลักจะมีคุณค่าเทียบเท่ากับเขายูนิคอร์น ทั้งนี้เขี้ยวแต่ละซี่ของวาฬหัวทุยอาจมีน้ำหนักมากถึง ๑ กิโลกรัม และอาจมีความยาวถึง ๒๐ เซ็นติเมตร

          บางชุมชนของญี่ปุ่นยังมีการตั้งศาลวาฬหรือคุจิระให้สักการะในฐานะเทพเจ้า คล้ายคลึงกับศาลเจ้าจีนในไทยที่มีการเก็บสะสมปากปลาฉนาก กระดองเต่า กะโหลกฉลาม ซึ่งให้ความเคารพในฐานะ "เจ้าพ่อน้ำ" เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ นับเป็นวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังประจำศาสนสถาน

          หากท่านสนใจของสะสมหายาก "ของแปลก" ที่เคยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นิทรรศการพิเศษเนื่องในวันพิพิธภัณฑ์ไทย ยังคงมีอีกหนึ่งวัน แอดมินแอบกระซิบว่ามีหนังสือ "คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ" แจกในงานด้วยนะ

 

 

อ้างอิง

การล่าวาฬ วัฒนธรรมการค้า และการต่อสู้เชิงอนุรักษ์. เข้าถึงเมื่อ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๖. เข้าถึงได้จาก https://shorturl.asia/1aKUw

วิเคราะห์ และเข้าใจวัฒนธรรม กิน-ล่าวาฬของญี่ปุ่น .เข้าถึงเมื่อ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๖. เข้าถึงได้จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_208323

วาฬหัวทุยยักษ์. เข้าถึงเมื่อ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๖. เข้าถึงได้จาก https://whalewatch.co.nz/th_TH/thai/about-whales/

(จำนวนผู้เข้าชม 262 ครั้ง)

Messenger