เรื่องราวของตัวละครโขนพระราชทาน ตอนสะกดทัพ

เป็นใยบัวติดสไบบาง นางพิรากวนยักษี 

ด้วยเดชพระมนต์อันฤทธี อสุรีไม่เห็นกายาฯ

         ลมหนาวแผ่วเบาปลายเดือนพฤศจิกาที่มาพร้อมสายฝนช่วงนี้ เพจคลังกลางฯ ขอเชิญชวนทุกท่านไปสัมผัสบรรยากาศการแสดงโขนพระราชทาน หนึ่งในมหรสพที่แสดงผลงานวิจิตรศิลป์ ความพิถีพิถันขององค์ประกอบฉาก ทั้งยังสอดแทรกกุศโลบายเรื่องคุณธรรม ความซื่อสัตย์ การรับราชการ ตลอดจนเรื่องกตัญญูกตเวทิตา ผ่านตัวละคร “หนุมาน” ทว่าอีกหนึ่งความน่าสนใจของการแสดงโขนพระราชทาน ตอนสะกดทัพ คือเจ้าลิงน้อย “มัจฉานุ” และธิดายักษ์อย่าง “นางพิรากวน” ที่ได้สร้างสีสัน ความประทับใจ ควบคู่ไปกับความสนุกสนาน วันนี้ เพจคลังกลางจึงขอยกเรื่องราวของตัวละครโขนพระราชทาน ตอนสะกดทัพ มาบอกเล่าในมุมมองของวัตถุภายในคลังกลางฯ ไม่ว่าจะเป็นหนังใหญ่ รวมถึงฝีมือลวดลายบนตู้พระธรรมชิ้นสำคัญ

          รามเกียรติ์... เป็นหนึ่งในวรรณคดีที่บอกเล่าเรื่องราวของชนชั้นสูง นิยมนำมาใช้ประดับ สำหรับแสดงออกซึ่งอำนาจและบุญบารมี ซึ่งนอกจากการแสดงโขนแล้ว ยังสามารถพบเห็นได้จากการแสดง “หนังใหญ่” อันถือเป็นความงามทางเชิงช่างอีกประเภทที่ต้องอาศัยการสังเกตเพื่อให้เกิดความเข้าใจในตัวละคร

 

“เมื่อนั้น นางพิรากวนยักษา เอากระออมนั้นตักคงคา ขึ้นมากระเดียดเดินไป”

          จากบทพระราชนิพนธ์ได้อธิบายตัวละครให้เกิดจินตภาพเบื้องต้น โดยรูปแบบของหนังใหญ่สามารถพบได้ในประเภทหนังคเจร (ภาพเดี่ยว) และหนังเบ็ดเตล็ด (ภาพฉาก) โดยปรากฏลักษณะเป็นตัวละครนาง สวมมงกุฏ ห่มสไบ (ผ้าห่มนาง) นุ่งผ้ายาวมีชายพก ผ้าเช็ดหน้านาง และถนิมพิมพาภรณ์ตามเครื่องแต่งกายโขนพระราชทาน แต่มีข้อสำคัญคือถือกระออมตักน้ำ หากพบในประเภทหนังเบ็ดเตล็ดต้องพิจารณาร่วมกับองค์ประกอบภาพด้วย ทั้งนี้ หนังใหญ่จะไม่สร้างตามความผันแปรของฐานะตัวละคร ไม่ว่าจะถูกลดตำแหน่งหรือถอดยศ จะคงรูปแบบเดิมให้เกิดความเข้าใจง่าย ดังนั้นจึงต้องอาศัยความพิถีพิถัน และทำความเข้าใจตัวละครผ่านบริบทของวรรณคดี 

          ส่วนลวดลายเล่าเรื่องรามเกียรติ์บนตู้ไม้ทรงสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า “ตู้พระธรรม” จะตกแต่งด้วยลายทองรดน้ำหรือปิดทองทึบ ปรากฏได้ทั้งตู้พระธรรมขาหมู ขาคู้ หรือขาสิงห์ โดยจากข้อสังเกตลายรดน้ำบนตู้พระธรรม มักเกิดจากการผูกลวดลายให้เต็มพื้นที่และมีแม่ลายเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งสอดคล้องสัมพันธ์กับศาสนา บอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ชาดก วรรณคดี นิทานพื้นบ้าน และธรรมชาติ แสดงถึงความหลากหลายและสุนทรียะของประณีตศิลป์ จึงถือเป็นเครื่องถวายเป็นพุทธบูชาในรูปแบบภาพจับ หรือฉากรบเพื่อสอดแทรกคติธรรม สามารถสังเกตตัวละครจากลักษณะของศีรษะและเครื่องแต่งกาย คือ มัยราพณ์ เป็นพญายักษ์สวมมงกุฎยอดกระหนก มีอาวุธเป็นกล้องยาและกระบอง รายละเอียดคล้ายคลึงกับเครื่องแต่งกายของโขนพระราชทาน เช่นเดียวกับมัจฉานุที่ปรากฏในลักษณะของลิงไม่มียอด (ลิงโล้น) คล้ายหนุมาน แต่มีหางเป็นปลา และท่อนบนเปลือยให้เห็นสัดส่วนของร่างกาย

 

          ภาพประกอบ : ลายรดน้ำตู้พระธรรมและหนังใหญ่ ปัจจุบันเก็บรักษาภายในอาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี

          เผยแพร่และเทคนิคภาพโดย พลอยไพลิน ปุราทะกา ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ / ภาพโดย กิตติยา เชื้อทอง นายช่างภาพปฏิบัติงาน กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร

(จำนวนผู้เข้าชม 459 ครั้ง)

Messenger