เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธกับองค์มหาวิฆเนศ

 

          เวียนบรรจบครบรอบวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกครั้ง ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน เพจคลังกลางฯ ขอร่วมน้อมรำลึกถึงพระองค์ที่ได้ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนากรมศิลปากรขึ้นเมื่อ ๑๑๑ ปีก่อน นำเสนอเนื้อหาว่าด้วยเรื่อง “พระพิฆเนศ” องค์อุปถัมภ์ศิลปะการช่างทั้งปวง อันเป็นดวงตราประจำกรมศิลปากร ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปสำรวจร่องรอยการนับถือเทพครูช้างในสังคมไทย อาจสืบย้อนไปได้ร่วมสมัยทวารวดี ดังมีหลักฐานจากโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนของวัดและเอกชนหลายครั้งที่ผ่านมา พบว่ามีอย่างน้อย ๖ รายการ ตั้งแต่ศิลปะศรีวิชัย “พระอุเชนทร์” แห่งวัดสวนขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช, ศิลปะลพบุรี, ศิลปะเขมรแบบบาปวน ตลอดจนศิลปะรัตนโกสินทร์

          ความเชื่อเรื่องช้างปรากฏอยู่ในสังคมไทยรูปแบบต่าง ๆ ดังในสมัยรัตนโกสินทร์ “พระอินทร์” ถูกยกให้เป็นเทพองค์สำคัญชัดเจนขึ้นกว่าสมัยอยุธยา ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทั้งนี้ การยกย่องให้พระอินทร์เป็นเทพหลักของเมืองใหม่ช่วยสนับสนุนพระมหากษัตริย์ว่าทรงเป็นผู้ศรัทธาและทำนุบำรุงศาสนา ด้วยพระอินทร์ทรงเป็นผู้ปกครองสูงสุดของเทพทั้งปวง ในขณะที่โลกมนุษย์พระมหากษัตริย์ผู้เป็นอวตารของพระอินทร์ก็ทรงเป็นผู้ปกครองสูงสุดของมนุษย์เช่นกัน

          เช่นนั้นแล้ว การที่พระอินทร์มีช้างเอราวัณเป็นพาหนะสำคัญฉันใด ตามธรรมเนียมราชสำนักไทยเมื่อพระมหากษัตริย์ขึ้นครองราชย์ก็จะช้างเผือกประจำรัชกาลฉันนั้น เพื่อแสดงถึงพระบารมีของพระมหากษัตริย์ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีช้างคู่พระบารมี ๑ช้าง มีนามว่า “พระเศวตวชิรพาหฯ” เป็นช้างที่มีลักษณะต้องตามตำรา เรียกว่า “เทพามหาพิฆเนศร์ อัคนีพงษ์” คือ ตาขาว ขนโขมด ขนตัวเหลือง ขนหูขาว ขนหางเหลืองเจือแดง อัณฑโกษขาว เล็บขาว เพดานขาว สีตัวแดง สูง ๓ศอก ๑คืบ ๕นิ้ว สำหรับความเชื่อเกี่ยวกับช้างในราชสำนักสยามถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะราชสำนักสยามมีความศรัทธาในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธเป็นอย่างมาก และยังเชื่อเรื่องการอวตารของเทพมาเป็นพระมหากษัตริย์ 

          ภาพสะท้อนแนวคิดนี้เราอาจศึกษาได้จากตราสัญลักษณ์ในงานสมโภชช้างเผือก พระเศวตวชิระพาหฯ ที่ปรากฎอยู่ในของที่ระลึกงานสมโภช เช่น ย่ามพระหรือผ้ากราบ ลักษณะเป็นรูปตราไอยราพต (ช้างสามเศียร) ทูลตราพระลัญจกรวชิราวุธประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จากภาพที่เห็นทำให้คนที่เคยเห็นภาพจิตรกรรมของพระอินทร์ที่ทรงช้างเอราวัณ รับรู้ได้ว่าภาพช้างสามเศียรที่อยู่ในตราสัญลักษณ์ที่สื่อถึงพระเศวตวชิรพาหฯ ก็คือช้างเอราวัณช้างทรงของพระอินทร์ ในขณะที่ช้างได้ทูลตราพระราชลัญจกรก็คือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระนามว่า “วชิราวุธ” อันเป็นพระสัญลักษณ์ประจำพระองค์ และยังเป็นอาวุธสำคัญของพระอินทร์ ภาพตราสัญลักษณ์ในงานสมโภชช้างเผือกครั้งนี้จึงช่วยย้ำแนวคิดว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นองค์อวตารของพระอินทร์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

          เผยแพร่โดย ศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ และวริยา โปษณเจริญ ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ / เทคนิคภาพโดย พลอยไพลิน ปุราทะกา ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ / ภาพโดย กิตติยา เชื้อทอง นายช่างภาพปฏิบัติงาน กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร

(จำนวนผู้เข้าชม 341 ครั้ง)

Messenger