๑๖๙ ปี ...วันนั้นฝนก็ตกแบบนี้แหละ



          “... เมื่อปีฉลูเบญจศก ซึ่งข้าพเจ้าเกิดนั้น ฝนแล้งมาแต่ปีชวดจัตวาศก ... เวลาเมื่อประสูติข้าพเจ้า ในทันใดนั้นฝนตกมาก ตามชาลาในพระราชวังท่วมเกือบถึงเข่า เห็นกันว่าเป็นการอัศจรรย์อยู่ ...” ข้อความตอนหนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่าถึงเหตุการณ์ฝนตกหนักเมื่อคราววันพระบรมราชสมภพ ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖ ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้พระองค์ได้รับหน้าที่เป็น “พนักงานขอฝน" อยู่เนือง ๆ นอกจากนี้ยังมีพิธีการขอฝนที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการแห่พระวิมลรัตนกิรินี (ช้างเผือก) พระสงฆ์สวดมนต์ขอฝน หรือโขลนร้องเสียงนางแมว วันนี้ เพจคลังกลางฯ จึงขอนำเสนอเรื่องพระคันธารราษฎร์ พระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา นิยมใช้สำหรับการเรียกฟ้า ขอฝน
         ดังที่กล่าวถึงหนึ่งในพิธีขอฝนคือการแห่ ‘พระวิมลรัตนกิรินี’ ช้างเผือกในรัชกาลที่ ๔ ด้วยช้างหมายถึง “ผู้ให้น้ำ” คำเดียวกับคำว่านาค นาคะ นาเคนทร์ ทั้งยังมีความสัมพันธ์กับนาม “กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ” ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ก็หมายถึงช้างเช่นกัน ดังนั้น ในการสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา รัชกาลที่ ๕ จึงเลือกพระคันธารราษฎร์ (พระปางขอฝน) ซึ่งสอดรับกับเรื่องเล่าวันประสูติ วันนี้ เพจคลังกลางฯ ขอนำเสนอพระคันธารราษฎร์ ๒ องค์สำคัญ คือ “พระคันธารราษฎร์จีน” ในพระบรมมหาราชวัง ดังมีพระบรมราชวินิจฉัยไว้ว่า …ดวงพระพักตร์เป็นอย่างจีน มีแต่พระเมาฬีไม่มีพระรัศมี ผ้าที่ทรงจะว่าเป็นจีวรก็ใช่ เป็นผ้าอุทกสาฎกก็ใช่ ใช้คลุมสองพระพาหา แหวกที่พระอุระกว้างทำนองเป็นเสื้อหลวงญวน อย่างเช่นพระจีนทั้งปวง... ส่วนอีกองค์ประดิษฐานอยู่ที่วัดใหญ่สุวรรณราม จ.เพชรบุรี อันพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าพระพุทธรูปองค์นี้น่าจะเป็นฝีมือการหล่อของช่างจีนโบราณ และได้มีการถ่ายแบบ หล่อขยายเป็นพระพุทธรูปแทนตัวของเจ้าจอมเอิบ ในรัชกาลที่ ๕ มาประดิษฐานไว้ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม (ดูเพิ่มเติมใน “ถ้ำเขาหลวง มรดกล้ำค่าของเพชรบุรี” ของ ผศ. ดร. พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์)
        ทั้งนี้ นอกจากวันที่ ๒๐ กันยายน จะเป็นกับวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรแล้ว วันนี้ ยังถือเป็น “วันเยาวชนแห่งชาติ” ด้วยถือเหตุที่ทั้งสองรัชกาลเสด็จขึ้นครองราชย์นับแต่ทรงเป็นยุวกษัตริย์นั่นเอง 
 
         ขอบคุณภาพ "พระคันธารราษฎร์" ประดิษฐาน ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม จาก พนมกร นวเสลา ภัณฑารักษ์ / เผยแพร่โดย ศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร

(จำนวนผู้เข้าชม 341 ครั้ง)