จารึกอักษรฝักขาม เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
         จารึกอักษรฝักขาม เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
          ในโอกาสเดือนมหามงคล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สิริพระชนมายุครบ ๙๐ พรรษา ทางเพจคลังกลางฯ ขอเสนอจารึกทรงใบเสมาในห้องคลังหิน ไม่มีประวัติระบุแน่ชัด โดยเนื้อหาเป็นการกล่าวเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระองค์นั้น ด้วยอักษรฝักขาม ความว่า
          “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาติแลประชาชนไทย ด้วยทรงไปบำเพ็ญพระราชกรณียกิจคราเสด็จฯ ตามติดเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้านวมินทร ได้ทรงยลยินทุกข์สุขปวงประชา จึงทรงพระเมตตาดับทุกข์ ช่วยปลดชีวิตให้สดใสตามนัยวิวิธประสงค์จำนงฉะนี้
          ทรงช่วยให้ราษฎรมีอาชีพเสริมเพิ่มเติมรายได้ไม่ขาด ชาวนาชาวไร่สามารถทางหัตถกิจ สิ่งประดิษฐ์ในครัวเรือน
          ทรงช่วยคนยากไร้ไข้เจ็บเหมือนพี่น้องปกป้องรักษาพยาบาลจนอาการโรคหายไม่วายอาทร
          ทรงช่วยแนะนำพร่ำสอนให้บิดามารดาที่ลูกมาก ยากเข้ารับการศึกษามีวิชาความรู้ พระราชทานทุนแก่ผู้ใฝ่ดี
          เพียงสามข้ออ้างนี้เหลือหลาย สมเด็จพระนางเจ้าฯ มุ่งหมายช่วยไทยตลอดกาลนาน ไซร้พิสูจน์ชาวไร่ชาวนาพูดทั่วหล้า อบอุ่นพระคุณปกฟ้า ราษฎรซร้อง สุขเกษม ฯ”
          อนึ่ง อักษรฝักขามถือเป็นอักษรที่ใช้กันในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยดัดแปลงไปจากอักษรสุโขทัย และถูกลดบทบาทลงภายหลังอักษรสยามขึ้นไปมีอิทธิพลในช่วงรัชกาลที่ ๕ ทำให้อักษรฝักขามไม่เป็นที่นิยมใช้
          แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ยังมีการใช้อักษรฝักขามในงานจารึกอยู่บ้าง เช่น จารึกบนฆ้องที่วัดพระธาตุหริภุญไชย จังหวัดลำพูน (พ.ศ. ๒๔๐๓) และจารึกวัดเชตุพน จังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๔๕๙) ดังนั้น จารึกหลักนี้จึงเป็นการนำรูปแบบอักษรฝักขามกลับมาใช้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๖
          นอกจากนี้ ยังมีความน่าสนใจในส่วนของศักราชที่ระบุอยู่บริเวณส่วนบนของจารึกที่จารข้อความว่า “๑๙๐๑ ศก” ซึ่งหากตีความว่าตัวเลขดังกล่าวหมายถึงปีมหาศักราช เมื่อแปลงเป็นพุทธศักราชแล้วจะตรงกับปีพ.ศ. ๒๕๒๒ แตกต่างไปจากขนบจารึกอักษรฝักขามที่นิยมระบุศักราชด้วยปีจุลศักราช
          ภาพที่ ๑ จารึกอักษรฝักขามในห้องคลังหิน คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ภาพที่ ๒ จารึกระบุปีศักราช ๑๙๐๑ ภาพที่ ๓ เนื้อหาในจารึก เน้นข้อความคำว่า “เหมือน” แสดงลักษณะการจาร “หม” ติดกันตามขนบอักษรฝักขาม
 
 
          เผยแพร่โดย ศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ / ภาพ-เทคนิคภาพโดย อริย์ธัช นกงาม ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร
ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 266 ครั้ง)