กว่าจะมาเป็นครุฑในทัศนะอาจารย์ศิลป์ – วันอาจารย์ศิลป์

          ๑๕ กันยายนของทุกปี เป็นที่ทราบกันดีของคนแวดวงศิลปะและชาวศิลปากรว่าเป็นวันคล้ายวันเกิดของประติมากรชาวอิตาลี “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยไทย และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร มีอนุสรณ์ยืนตระหง่านบริเวณลานหน้าคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ โดยกิจกรรมวันนี้ของทุกปี ชาวศิลปากรจะร่วมกันจุดเทียนรำลึกถึงอาจารย์ฝรั่ง มีดนตรีสังสรรค์ การแสดงผลงานศิลปะของคณะวิชา รวมถึงกิจกรรมวางพวงมาลา วางดอกไม้ ณ ห้องทำงาน(เดิม) ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ และบริเวณลานหน้าอนุสาวรีย์ วันนี้ เพจคลังกลางฯ จึงขอร่วมแสดงมุทิตาจิตรำลึกถึงหนึ่งผลงานของอาจารย์ คือ ครุฑ ณ ที่ทำการกรมไปรษณีย์โทรเลข

         ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “ครุฑ” เป็นสัญลักษณ์ที่สัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์ ดังมีตำนานกล่าวว่าเป็นพาหนะของพระนารายณ์ในศาสนาฮินดู ซึ่งภาพปรากฎในงานศิลปกรรมยุคแรกมักแสดงเป็นรูปมนุษย์มีปีก กระทั่งถูกพัฒนารูปแบบกลายเป็นพญานก สวมทรงเครื่อง มีจะงอยปาก ประดับอยู่ตามอาคารสถานที่ต่าง ๆ เช่นครุฑยุดนาคประดับอาคาร โขลนเรือพระที่นั่ง ครุฑรถพระที่นั่ง ธงครุฑ ฯ ทั้งยังถูกใช้เป็นตราแผ่นดินสืบมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ อย่างไรก็ดี ยังมีช่วงเวลาหนึ่งที่ความหมายของครุฑถูกปรับเปลี่ยนไปราวปี พ.ศ. ๒๔๘๓ มีการสร้างอาคารราชการหลังใหม่ระบุในรายงานการเปิดตึกว่า “...ตึกที่ทำการใหม่ของกรมไปรษณีย์โทรเลขนี้เป็นศิลปกรรมแบบทันสมัย...” โดยอาคารหลังนี้ มีการประดับรูปปั้นครุฑไว้มุมอาคาร ทว่า กลับถูกสร้างความหมายเป็นสัญลักษณ์ของการสื่อสาร ดังจะเห็นได้จากประติมากรรมรูปครุฑยุดแตรงอน 

         ลักษณะของครุฑคู่ ณ อาคารหลังนี้เต็มไปด้วยความแข็งกร้าว ไม่มีลายประดับตกแต่งแบบครุฑในอดีตสอดคล้องกับลักษณะงานศิลปกรรมร่วมสมัย เป็นผลงานของลูกศิษย์แผนกช่างปั้นจากโรงเรียนศิลปากรภายใต้การกำกับดูแลของศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มีขนาดใหญ่เป็น ๓ เท่าของคนจริง เน้นความถูกต้องตามหลักกายวิภาค มีกล้ามเนื้อ ทำท่ากางปีกดูน่าเกรงขาม สะท้อนให้เห็นถึงอุดมคติของร่างกายตามยุคสมัยได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี แม้ประติมากรรมปูนปั้นคู่นี้จะสร้างขึ้นตามแนวคิดสัจนิยมตะวันตก แต่จะเห็นได้ว่ามีการผสมผสานกลิ่นอายตามความเชื่อตะวันออก ครุฑจึงถูกนำเสนอผ่านเรือนร่างมนุษย์กางปีก มีจะงอยปาก มีกรงเล็บแหลม ซึ่งปัจจุบันครุฑคู่นี้ได้รับการบูรณะกางปีกเด่นเป็นสง่าเหนืออาคารไปรษณีย์กลาง เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร

 

 เผยแพร่โดย ศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ และอาทิมา ชาโนภาษ ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ / ภาพโดย กิตติยา เชื้อทอง นายช่างภาพปฏิบัติงาน / เทคนิคภาพโดย ณัฐดนัย อรุณมาศ ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 955 ครั้ง)

Messenger