๒๔ กันยายน – วันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

 

           สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช - เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ประสูติเป็นลำดับที่ ๗ ในสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นทรงกรมเป็น “สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร” 

          กรมสงขลา - เดิมพระนามกรมนี้ เป็นพระอิสริยยศในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนมไหสูริยสงขลา โดยได้รับการสถาปนาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔ กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ภายหลังเสด็จกลับมารับราชการ จึงได้โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนพระนามกรมเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต นามกรมนี้จึงได้เป็นของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ในอีก ๒ ปีต่อมา นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวของพระนาม “สงขลา” ในหนังสือเจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์ ระบุว่าเมื่อครั้งทรงศึกษาอยู่ต่างประเทศ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชทรงใช้พระนามว่า Mr. Mahidol Songkla ดังนั้น พระโอรส - ธิดาของพระองค์จึงได้ใช้นามสกุล “สงขลา” (ภายหลังในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ พระบาทสมเด็จพระปกกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามสกุลเป็น “มหิดล ณ อยุธยา”)

         บรมราชชนก - สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงพระประชวรและสิ้นพระชนม์ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๗๒ (รัชกาลที่ ๗) ทรงได้รับการเฉลิมพระราชอิสริยยศพระศพขึ้นเป็น “กรมหลวง” จนในรัชกาลที่ ๙ ทรงรับการเฉลิมพระนามพระอัฐิเป็น “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” ทรงพระราชฐานันดรศักดิ์เสมอด้วยสมเด็จพระบวรราชเจ้าในพระบรมราชวงศ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

        ปัจจุบัน พระราชสรีรางคารของพระองค์ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ พระสถูปแห่งราชสกุลมหิดล ลักษณะเป็นพระเจดีย์ครึ่งองค์ บริเวณหน้ามุขด้านทิศตะวันออกของโรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ตามพระราชประสงค์ที่ระบุว่า ...เพื่อสังวาลย์และลูกๆ จะได้มาหาโดยสะดวก...

.          (เผยแพร่โดย ศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ / เทคนิคภาพ อริย์ธัช นกงาม ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร)

(จำนวนผู้เข้าชม 1424 ครั้ง)

Messenger