พระวินิจฉัยว่าด้วยเรื่องที่มาของ “นาค” และการขานรับ “มนุสฺโสสิ”

          พระวินิจฉัยว่าด้วยเรื่องที่มาของ “นาค” และการขานรับ “มนุสฺโสสิ” 

          จากจดหมายเวรของสองสมเด็จมากล่าวถึง เริ่มต้นที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแสดงพระวินิจฉัยเหตุแห่งการขาน “มนุสฺโสสิ” ต่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ระบุในจดหมายเวร ฉบับลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๘๐ ความว่า “...หม่อมฉันได้คิดเห็นมานานแล้วอย่างหนึ่ง เนื่องจากคำถามเจ้านาคเมื่ออุปสมบทว่า มนุสโสสิ ก็เมื่อแลเห็นอยู่แก่ตาโทนโท่ว่าเป็นมนุษย์แล้วต้องถามทำไม ที่อธิบายมูลเหตุว่าเพราะนาคเคยจำแลงตัวมาขอบวช ก็ไม่เห็นสม หม่อมฉันเห็นว่าอมนุษย์นั้นต้องเป็นคนเรานี่เอง ครั้งนั้นเห็นจะถือว่าคนสามัญเป็นมนุษย์ เหมาเอาคนป่าเถื่อนที่เข้ากันไม่ได้ว่า เป็นอมนุษย์เหมือนอย่างผี...จึงไม่ยอมให้บวช มูลแห่งคำถามว่า มนุสโสสิ น่าจะเกิดขึ้นด้วยเหตุนั้น เพราะฉะนั้น จึงนับพวกบริวารของจาตุมหาราชว่าเป็นอมนุษย์ ประหลาดอยู่ที่ยังมีชาวป่าทางอินเดียจำพวกหนึ่งเรียกว่า “นาคะ” Naga อยู่จนทุกวันนี้...” 

          ส่วนสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก็ได้ทรงแสดงพระวินิจฉัยว่าด้วยเรื่องการขานนาคไว้ในจดหมายเวร ฉบับลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๔๘๓ ว่า “...คำถามในการบวชนาคว่า “มนุสฺโสสิ” อันมีคนหัวเราะกันอยู่มากว่าเห็นอยู่แล้วเป็นมนุษย์ถามทำไม ข้อวินัยทำให้แปลความได้ว่า คำที่ท่านเรียกมนุษย์นั้นหมายถึงรู้จักผิดชอบ ไม่ได้หมายถึงรูปร่างอย่างคน...” ซึ่งจากพระวินิจฉัยของสองสมเด็จข้างต้น แม้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจะแสดงพระวินิจฉัยในเชิงมานุษยวิทยา ขณะที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงแสดงพระวินิจฉัยผ่านพระวินัยตามหลักของศาสนา แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองพระองค์ทรงมีร่วมกัน คือ แนวพระวินิจฉัยอย่างมีเหตุมีผล พิสูจน์ได้ คล้ายกับหลักการของพุทธศาสนาที่พิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์

          (ภาพประกอบ นาคทัณฑ์ หรือ คันทวยไม้ สลักรูปนาค ๒ ตน คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ / เผยแพร่ข้อมูลโดย นายศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ / ภาพ : ปกรณ์เณศร์ แก้วสมเด็จ)

(จำนวนผู้เข้าชม 9084 ครั้ง)