การเสด็จออกประพาสชายทะเลฝั่งตะวันออกและมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายโบราณวัตถุแก่พระองค์

     เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จออกประพาสชายทะเลฝั่งตะวันออก โดยประทับแรมยังค่ายหลวงอ่างศิลา ในช่วงเวลาที่ประทับอยู่นั้นได้มีบุคคลมาทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญโบราณจำนวนหนึ่ง ดังปรากฏความในหลักฐานเอกสารว่า

“...หลวงเพ็ชรสงคราม ปลัดเมืองบางละมุง นำนายวิงน้องชายมาทูลเกล้าฯ ถวายเงินเหรียญโบราณซึ่งขุดได้ที่ป่าทุ่งคราวในสวนกล้วยตำบลบ้านเหมือง แขวงเมืองบางละมุง ขุดได้เมื่อณวันอาทิตย์ เดือน ๘ แรมค่ำ ๑ ปีกุนสัปตศก

จุลศักราช ๑๒๓๗ เมื่อจะขุดได้นั้น นายวิงไปทำไร่ยกหินขึ้นทุบออก เงินนั้นก็กระจายออกมา รวมได้เงิน ๔๐ เหรียญ แต่ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย ๑๔ เหรียญ เงินเหรียญนั้นไม่ทราบแน่ว่าจะเปนเงินแต่ครั้งไหน โตขนาดเงินรูเปียฤาอัฐทองแดงที่ใช้กันในกรุงเทพฯ แต่บางกว่า ข้างด้านหนึ่งมีตราหยาบๆ เปนพระอาทิตย์ครึ่งดวง ฤาพระจันทร์ครึ่งดวงฤาแก้วจักรพรรดิอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี แลมีรัศมีหยาบๆ รอบดวงกลางนั้นด้วย แต่อิกด้านหนึ่งนั้น คเนดูว่าจะเป็น

รูปตัวอักษรเทวันนาครี ฤาเปนรูปครุฑเหยียบนาคก็ดี ยังไม่ทราบแน่ว่าเปนอะไรแปลยังไม่ออก เงินนั้นน้ำหนักบางอันหนักสองสลึงเฟื้องมีเศษบ้าง ย่อมอยู่บ้าง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ในที่โรงมิวเซียม คือที่เก็บของประหลาดต่างๆ ในพระบรมมหาราชวังบ้าง...”

    อย่างไรก็ตาม ในเวลาดังกล่าวยังไม่มีการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับเหรียญเงินที่มีการพบนี้มาก่อน

ตามบันทึกจึงไม่ทราบรูปแบบศิลปะและอายุสมัยของเหรียญ กระทั่งภายหลังจึงมีการสันนิษฐานว่าเหรียญดังกล่าวคงจะเป็นเหรียญในสมัยทวารวดี (ราว ๑,๑๐๐ - ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว) รูปแบบหนึ่ง กล่าวคือ ด้านหนึ่งเป็นภาพ

พระอาทิตย์ครึ่งดวงฉายแสง ส่วนอีกด้านหนึ่งซึ่งแต่เดิมมีการบันทึกว่า “...คเนดูว่าจะเป็นรูปตัวอักษรเทวันนาครี ฤาเปนรูปครุฑเหยียบนาคก็ดี...” ได้มีผู้ศึกษาและสันนิษฐานว่าเป็นภาพศรีวัตสะ (มีความหมายถึงความรุ่งเรือง

ความอุดมสมบูรณ์)

     เหรียญรูปแบบดังกล่าวนี้ปัจจุบันมีการพบกระจายตัวอยู่หลายแห่ง ได้แก่ เมืองอู่ทอง (สุพรรณบุรี) เมืองพรหมทิน (ลพบุรี) เมืองอู่ตะเภา เมืองดงคอน (ชัยนาท) เมืองศรีมโหสถ (ปราจีนบุรี) เมืองดงละคร (นครนายก) แหล่งโบราณคดีบ้านวังแดง (พิจิตร) แหล่งโบราณคดีทุ่งน้ำเค็ม (นครศรีธรรมราช) แหล่งโบราณคดีพงตึก (กาญจนบุรี) แหล่งโบราณคดีบ้านด่านลานหอย (สุโขทัย) แหล่งโบราณคดีบ้านชมภู (พิษณุโลก) แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย (สุราษฎร์ธานี) เขตอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก และอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีการพบที่เมืองออกแก้ว (Oc Eo) ประเทศเวียดนาม และเมืองโบราณหลายแห่งในวัฒนธรรมปยูในประเทศเมียนมา ได้แก่ เบคถาโน ศรีเกษตร ฮาลิน

     จากการศึกษาที่ผ่านยังมีการพบเหรียญที่มีลวดลายมงคลและรูปแบบอื่นๆ ซึ่งสันนิษฐานว่าเหรียญเหล่านี้อาจใช้ทั้งในทางเศรษฐกิจการค้าโดยเป็นระบบเหรียญตราที่เหมือนกันและยอมรับสำหรับใช้ติดต่อแลกเปลี่ยนกันในวัฒนธรรมร่วมสมัยทวารวดี อีกทั้งยังอาจใช้ในทางความเชื่อดังพบว่ามีการพบเป็นของอุทิศร่วมกับศพ บรรจุภาชนะดินเผาและฝังใกล้บริเวณที่เป็นโบราณสถาน ทั้งนี้เหรียญเหล่านี้แสดงถึงการรับแรงบันดาลใจ

ลวดลายมงคลจากอินเดีย

     ดังนั้น หากเหรียญเงินตามบันทึกคือเหรียญเงินในสมัยทวารวดีอาจแสดงให้เห็นว่าพื้นที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี อาจมีการอยู่อาศัยมาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่สมัยทวารวดีเช่นเดียวกับพื้นที่อำเภอพนัสนิคม 

จังหวัดชลบุรี ซึ่งพบหลักฐานร่วมสมัยทวารวดี และคงมีการติดต่อสัมพันธ์กับผู้คนบ้านเมืองอื่นๆ ที่ร่วมสมัยในพื้นที่ใกล้เคียงก็เป็นได้

___________________________________

อ้างอิง

- สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ และคณะ. หนังสือ COURT ข่าวราชการ เจ้านาย ๑๑ พระองค์ทรงช่วยกันแต่ง. พระนคร: สำนักราชเลขาธิการ, ๒๕๓๙.

- ผาสุข อินทราวุธ.  ทวารวดี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ: อักษรสมัย, ๒๕๔๒.

- ผาสุข อินทราวุธ.  “เหรียญเงินไม่มีจารึกพบในแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดี,” ใน “มรดกวัฒนธรรม : ไทยกับเพื่อนบ้าน” : การประชุมทางวิชาการนานาชาติ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. กรุงเทพฯ: คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๙.

- วิภาดา อ่อนวิมล. “เหรียญตราในประเทศไทยช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙ - ๑๖” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๖๑.

- วิภาดา อ่อนวิมล. เงินตราในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสยาม. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 

๒๕๖๒.

___________________________________

(เผยแพร่ข้อมูลและเทคนิคภาพโดย นายอริย์ธัช นกงาม ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ)

ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 465 ครั้ง)