ประวัติความเป็นมาตำนานโยนก ของพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุญนาค) ปริเฉทที่ ๙ ว่าด้วยศึกสงครามกับกรุงละโว้ จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ หน้า ๒๐๔ - ๒๐๕ ความว่า
“...จุลศักราชได้ ๓๐๙ พระยาจุเลระราช ได้ครองราชย์สมบัติในนครหริภุญไชยสืบไป ในสมัยนั้นเมืองหริภุญไชยเกิดความไข้ คนตายมาก ประชุมชนชาวหริภุญไชยพากันหนีความไข้ไปอยู่ยัง เมืองสุธรรมาวดีนคร อาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่ในเมืองนั้นเป็นอันมาก
ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าพุกามราช มาได้เมืองสุธรรมาวดี พระองค์ไม่ยินดีแต่ที่จะเก็บเอาบุตรีธิดาของคนในเมืองสุธรรมาวดีเท่านั้น แม้หมู่ชนหริภุญไชยอันทุพพลภาพ ก็มิได้กรุณาปรานี ยังเก็บ เอาบุตรีธิดาของชาวเมืองหริภุญไชยเหล่านั้นด้วย ฝ่ายพวกชาวเมืองหริภุญไชย จึงได้พากันอพยพหนีจากเมืองสุธรรมนครไปยัง กรุงหงสาวดี อาศัยยังชีวิตอยู่ในเมืองนั้น
พระเจ้าหงสาวดีทรงอนุเคราะห์เกื้อกูลแก่ชนชาวหริภุญไชย เป็นอันมาก ชาวหริภุญไชยกับชาวหงสาวดีได้มีความวิสาสะรักใคร่ต่อกันและกับสืบมา ครั้นครบ ๖ ปี ความไข้นั้นระงับหายไป ผู้ที่ปรารถนาจะกลับคืนมาอยู่เมืองหริภุญไชย ก็พากันกลับมาอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม คนที่ไม่มีอาลัยต่อบ้านเมืองเดิมก็เลยอยู่อาศัยในเมืองหงสาวดีนั้น
เพราะเหตุนี้ ชนทั้งหลายใดที่ได้กลับคืนมายังเมืองหริภุญไชยนี้แล้ว เมื่อระลึกถึงหมู่ญาติอันยังอยู่เมืองหงสาวดี ครั้นถึงกำหนดปีเดือน ย่อมแต่งเครื่องสักการะไปบูชาโดยทางน้ำ เรียกว่า ลอยโขมด (คือลอยไฟ) จึงเป็นประเพณีลอยประทีป สืบมา...”
สำหรับในปัจจุบันประเพณีล่องสะเปา เป็นประเพณีที่เก่าแก่ยิ่งใหญ่แห่งดินแดนล้านนาทางภาคเหนือที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณอย่างช้านาน คำว่าสะเปา สะกดตามเสียงสำเนียงล้านนาจะสะกดว่าเป็น “สะเพา” หมายถึง เรือสำเภา หรือ “ล่องสะเปา” แปลว่า ปล่อยเรือไหลล่องลงตามน้ำในช่วงเทศกาลประเพณียี่เป็ง ซึ่งคำว่ายี่เป็ง ในภาษาคำเมืองของทางเหนือ คำว่า “ยี่” แปลว่า สอง ส่วนคำว่า “เป็ง” แปลว่า เพ็ญ หมายถึง ประเพณีพระจันทร์เต็มดวงในเดือนสองหรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
เมื่อถึงเดือนยี่เป็งจะมีการจัดประเพณีล่องสะเปา เป็นการล่องกระทงรูปเรือสำเภาขนาดใหญ่ที่ประดับไปด้วยกาบกล้วย ไม้ไผ่ ทรงกระโจม ภายในกระโจมประดับด้วยธงทิวภายในบรรจุดอกไม้ธูปเทียน ข้าวสารอาหารแห้ง และสิ่งของต่างๆ จุดประทีปตามไฟแล้วลอยลงตามแม่น้ำในเวลากลางคืนทำให้เกิดแสงสว่างกระทบกับผิวน้ำในคืนพระจันทร์เต็มดวงคล้ายกับดวงไฟของผีโขมด สำหรับคำว่าผีโขมดเป็นชื่อเรียกของผีป่าที่ออกหากินในเวลากลางคืน มีพะเนียงไฟมองเห็นเป็นระยะคล้ายผีกระสือ จึงเป็นที่มาของคำว่า ลอยโขมด อีกทั้งยังเป็นการลอยไปตามแม่น้ำหวังว่าการลอยในครั้งนี้เพื่อต้องการให้ชาวเมืองสะเทิมและหงสาวดี ร่วมถึงญาติพี่น้องที่ยังคงอยู่ได้รับรู้ว่าชาวหริภุญชัยยังคงระลึกถึงอยู่เสมอ
สำหรับความเชื่อในการสร้างสะเปา เพื่อทำให้เกิดอานิสงส์และเป็นการอุทิศกุศลในการทำทานให้กับดวงวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองในภพหน้าชาติหน้า และเป็นการลอยทุกข์โศกในปีที่แล้วให้ผ่านพ้นไปด้วยดี นอกจาการนี้ยังเป็นการเคารพบูชาพระแม่คงคาและเพื่อเป็นขอขมาแม่น้ำ ซึ่งในปัจจุบันประเพณีการล่องสะเปาได้รับความนิยมน้อยลง แต่ยังคงมีการทำบุญอุทิศลักษณะทำนองเดียวกัน โดยการสร้างเรือจำลองบรรจุสิ่งของถวายแด่พระสงฆ์ แต่ไม่ได้นำไปลอยน้ำเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
สรุปได้ว่า ประเพณีการล่องสะเปา เป็นความเชื่อ ความศรัทธา ความกตัญญูกตเวทีต่อการบูชารอยพระพุทธบาทแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังเป็นการทำบุญให้ทานแก่ผู้ยากไร้หรือเป็นประโยชน์ผู้ที่อยู่ใกล้แม่น้ำจากเครื่องอุปโภคบริโภคที่อยู่ในสะเปา เพื่อเป็นอานิสงส์แก่การดำรงชีวิตและส่งเสริมให้เป็นผู้ที่มีความมั่งคั่ง มีโชค มีทรัพย์ หรือมีความราบรื่นในการดำรงชีวิต ถือได้ว่าประเพณีการล่องสะเปาเป็นวัฒนธรรมอันดีของทางภาคเหนือ ด้วยเหตุนี้อนุชนควรอนุรักษ์ประเพณีและส่งเสริมประเพณีอันดีงามนี้สืบไป
เรียบเรียงโดย : นายธีรบูลย์ มิตรมโนชัย นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
แหล่งอ้างอิง :
เทศบาลตำบลต้นธง . เทศบาลตำบลต้นธง ร่วมส่งเสริมประเพณีลอยโขมด ครั้งที่ ๙ ประจำปี ๒๕๖๖ หนึ่งเดียวในล้านนา หนึ่งเดียวในโลก”. [ออนไลน์].
สืบค้นเมื่อ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๗, จาก: http://www.tontong.go.th/v/catalog/180, ๒๕๖๖.
เทศบาลนครเชียงใหม่. การแห่ขบวนสะเปาล้านนา ในงานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี ๒๕๖๖. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๗,
จาก: https://www.cmcity.go.th/News/20037-การแห่ขบวนสะเปาล้านนา%20ในงานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่%20ประจำปี%202566.html, ๒๕๖๖.
ประชากิจกรจักร, พระยา (แช่ม บุนนาค). พงศาวดารโยนก. กรุงเทพฯ: บุรินทร์การพิมพ์, ๒๕๑๖.
มณี พยอมยงค์. ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๓. เชียงใหม่: ส.ทรัพย์การพิมพ์, ๒๕๓๗.
(จำนวนผู้เข้าชม 24 ครั้ง)