หลวงพ่อขนมต้ม
ชื่อพระพุทธรูป หลวงพ่อขนมต้ม
สถานที่ประดิษฐาน กุฏิเจ้าอาวาส วัดบางลําภู ต.บางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
ประวัติ หลวงพ่อขนมต้มเป็นพระที่อยู่คู่กับชุมชน ซึ่งเป็นชุมชนมอญมาตั้งแต่ดั้งเดิม โดยชาวมอญบางลําภูเป็นชาวมอญที่หนีภัยสงครามมาจากทางใต้ของประเทศเมียนมาร์ในปัจจุบัน จากการบอกเล่าของพระครูโสภิตวัชรกิจ (หลวงพ่อสงวน) เจ้าอาวาสวัดบางลําภู กล่าวว่า
“. . . ในครั้งอพยพในครั้งบรรพบุรุษได้อัญเชิญหลวงพ่อขนมต้มมาด้วย เมื่อมืดค่ำที่ใด ก็พักค้างที่นั่น โดยจะนําหลวงพ่อขนมต้มขึ้นประดิษฐานในที่พักและสวดมนต์กราบไหว้ ตลอดการเดินทางจนถึงเมืองเพชรบุรี และได้ตั้งชุมชนที่บริเวณบ้านนามอญใกล้เมืองเพชรบุรี ต่อมาย้ายมาอยู่บริเวณบ้านทุ่งใหญ่ซึ่งอยู่ติดแม่น้ำเพชรบุรี ใกล้ตัวอําเภอบ้านแหลม เนื่องจาก น้ำเค็มรุกขึ้นสูงจนทํามาหากินไม่ได้ จึงย้ายมาอยู่บริเวณวัดบางลําภูปัจจุบันที่อยู่ด้านเหนือบ้านทุ่งใหญ่เล็กน้อย . . .”
หลวงพ่อขนมต้ม เป็นชื่อที่เรียกตามลักษณะของพระพุทธสิหิงค์แห่งเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง แต่สําหรับชาวมอญที่บ้านบางลําภู เรียกว่า “อะละกาวซอ” เป็นชื่อในภาษามอญ โดยมีความหมายว่า เจ้าของบุญกุศลที่จะประสิทธิประสาทพรให้แก่เรา (อะละ แปลว่า เจ้าของ ส่วน กาวซอ แปลว่า บุญกุศล) จากชื่อภาษามอญ ดังกล่าวนั้น เพื่อสื่อสารกับพุทธศาสนิกชนทั่วไป จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “หลวงพ่อบุญฤทธิ์”
หลวงพ่อขนมต้ม / หลวงพ่ออะละกาวซอ / หลวงพ่อบุญฤทธิ์ เป็นที่สักการะกราบไหว้ของชาวบ้านบางลําภู ตลอดถึงชาวบ้านทั้งใกล้และไกล โดยมีความเชื่อว่าท่านสามารถดลบันดาลให้ได้รับสิ่งประสงค์ดั่งใจปรารถนาแก่ผู้มากราบไหว้ ทั้งการสอบเข้าเรียนต่อ สอบเข้ารับราชการ สอบเลื่อนขั้นเลื่อนตําแหน่ง เจ็บไข้ได้ป่วย ประกอบอาชีพประมง ค้าขาย การขึ้นโรงขึ้นศาล ฯลฯ หรือจะเรียกว่าท่านช่วยได้ “อเนกประสงค์” สิ่งของที่นิยม นํามาถวาย ได้แก่ ข้าวต้มมัด
ประเพณี / ความเชื่อ
ในช่วงสงกรานต์ ระหว่างวันที่ ๑๓ - ๑๗ เมษายนของทุกปี จะเชิญหลวงพ่อขนมต้มมาให้ชาวบ้านปิดทองตลอดช่วงสงกรานต์ ในวันสุดท้ายคือวันที่ ๑๗ เมษายน จะสรงน้ำหลวงพ่อแล้วอัญเชิญกลับสู่บนศาลาวัด
(จำนวนผู้เข้าชม 723 ครั้ง)