วันนี้ในอดีต 7 กรกฎาคม 2566
วันนี้ในอดีต 7 กรกฎาคม 2566
ครบรอบ 164 ปี พิธีก่อพระฤกษ์พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งองค์แรกของพระราชวังพระนครคีรี
ครบรอบ 164 ปี พิธีก่อพระฤกษ์ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งองค์แรกของพระราชวังพระนครคีรี เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ เดือนแปด ปีมะแม เอกศก จุลศักราช 1221 เป็นปีที่ 8 แห่งรัชกาล (ตรงกับวันที่ 7 กรกฎาคม พุทธศักราช 2402) โดยโปรดสร้างขึ้น ณ พระนครคีรี เพื่อใช้เป็นเป็นพระราชวังในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพุทธศักราช 2402 ด้วยทรงเห็นภูมิสถานของเมือง เพชรบุรีเป็นที่เหมาะสมในการจะสร้างพระราชฐานที่ประทับ โดยให้สร้างขึ้นบนเขาสมณะ ภายหลังพระราชทานนามว่า เขามหาสวรรค์ นับเป็นครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีการสร้างพระราชวังขึ้นบนเขา เป็นพระราชฐานในหัวเมืองที่สำคัญที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาประทับอยู่เสมอตลอดรัชสมัย
ภายหลังสร้างเสร็จได้ประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรในคราวบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในพระเจดีย์เพชรภูมิไพโรจน์ (พระสุทธเสลเจดีย์) เมื่อวันพุธ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ จัตวาศก จ.ศ. 1224 (ตรงกับวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2405)
พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เป็นท้องพระโรง สำหรับเสด็จออกขุนนางและให้ใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ทั้งใน รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้จัดพิธีสงฆ์ตั้งเครื่องบูชาและแขวนโคม
ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบยุโรปผสมไทย การเข้ามาของลักษณะสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ริเริ่มจากความสนใจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ทรงเริ่มศึกษาภาษาอังกฤษ และวิชาความรู้ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงความรู้เกี่ยวสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกมาสร้างพระราชวัง และพระที่นั่งต่าง ๆ ในรัชสมัยของพระองค์ เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคมในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ รวมถึงพระนครคีรีแห่งนี้ด้วย แม้นำสถาปัตยกรรมตะวันตกใช้แต่ฝีมือช่างนั้นยังมีอิทธิพลของงานสถาปัตยกรรมจีนผสมอยู่ด้วย เช่น การปั้นสันหลังคา และการใช้กระเบื้องกาบกล้วย เป็นต้น สำหรับตัวผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีมุขยื่นออกไปด้านข้างสองด้านทั้งซ้ายและขวา ภายในแบ่งเป็นห้องต่างๆ การก่อสร้างพระนครคีรี
ต่อมา พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ปรับเปลี่ยนเป็นห้องรับรองการประทับสำหรับพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศ คือ ดยุคโยฮัน อัลเบรกต์ ผู้สำเร็จราชการเมืองบรันซวิก ประเทศเยอรมนี และดัชเชสอลิสซาเบธ สโตลเบิร์ก รอซซาล่า พระชายา โดยได้จัดตกแต่งห้อง ต่าง ๆ บนพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ใหม่ ดังนี้
ท้องพระโรงหน้าเดิม จัดเป็นห้องเสวยและห้องเสด็จออกขุนนางปัจจุบันจัดแสดงโต๊ะอาหารขนาดใหญ่พร้อมเก้าอี้
ท้องพระโรงหลังเดิม จัดเป็นห้องบรรทมปัจจุบันจัดแสดงแท่นบรรทม โต๊ะทรงพระอักษร เครื่องราชูปโภค เครื่องกระเบื้องและเครื่องแก้ว
มุขด้านทิศตะวันออก จัดเป็นห้องทรงพระสำราญปัจจุบันจัดแสดงโต๊ะและเก้าอี้สำหรับพักผ่อนพระอิริยาบถ
มุขด้านทิศตะวันตก จัดเป็นห้องสรงและห้องลงพระบังคนปัจจุบันจัดแสดงอ่างน้ำสำหรับสรงและโต๊ะเครื่องพระสำอาง
การจัดตกแต่งห้องต่าง ๆ ในปัจจุบัน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี ยังคงถือตามแบบที่เปลี่ยนแปลงในคราวหลังนี้ โดยจัดแสดงเครื่องราชูปโภคและเครื่องเรือนประจำอยู่แต่ละห้องตามเดิม
เอกสารสำหรับการสืบค้น
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี, “162 ปี พิธีก่อพระฤกษ์พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์”, [ออนไลน์], แหล่งที่มา : https://www.finearts.go.th/.../27178-%E0%B9%91%E0%B9%96... [6 ก.ค. 2566].
กรมศิลปากร. พระนครคีรี. เพชรบุรี : กรมศิลปากร.
(จำนวนผู้เข้าชม 269 ครั้ง)