พัดรองที่ระลึกงาน “เถลิงพลับพลาสวนดุสิต” พ.ศ. ๒๔๔๒
พัดรองที่ระลึกงาน “เถลิงพลับพลาสวนดุสิต” พ.ศ. ๒๔๔๒
ภายหลังกลับจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๑ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๐ มีพระราชประสงค์สร้างพระราชนิเวศน์สำหรับแปรพระราชฐาน เนื่องด้วยนายแพทย์ประจำพระองค์ชาวตะวันตกได้กราบบังคมทูลว่า ภายในพระบรมมหาราชวังมีอาคารปลูกสร้างแออัด บังทิศทางลม สถานที่คับแคบ อากาศไม่ถ่ายเท ทำให้ฤดูร้อนมีอากาศร้อนจัดเป็นเหตุให้ทรงประชวรอยู่บ่อยครั้ง จึงมีพระราชดำริว่าควรปลูกสร้างที่ประทับในฤดูร้อน สำหรับทรงสำราญพระราชอิริยาบถและพระราชดำเนินด้วยพระบาท แทนการเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมือง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทอดพระเนตรพื้นที่สวนและทุ่งนาทางตะวันออกเฉียงเหนือของพระนคร แล้วพอพระราชหฤทัย จึงโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงนครบาลจัดซื้อที่ดินด้วยเงินพระคลังข้างที่ โดยวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๒ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินตัดต้นไม้บนที่ดินเป็นปฐมฤกษ์ก่อนการปรับสภาพพื้นที่ ตัดถนน ขุดคลอง ทำสวน และปลูกพลับพลาที่ประทับขึ้นก่อนเป็นการชั่วคราว เพื่อประทับร่วมกับมเหสี เจ้าจอม พระราชโอรส และพระราชธิดา พร้อมพระราชทานนามว่า “สวนดุสิต”
ต่อมาได้มีหมายกำหนดการจัดงานเถลิงพลับพลารวมและงานปีสวนดุสิตระหว่างวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ถึง ๔ มีนาคม ๒๔๔๒ ประกอบด้วย พระราชพิธีเจริญพระพุทธมนต์และถวายภัตตาหารเพล งานพระราชทานเลี้ยงน้ำชาแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ พระราชทานสิ่งของแก่ราษฎรที่มารอเฝ้า พระราชทานข้าวกระทงกับผ้าอาบน้ำให้กับคนทำงานในสวนดุสิต งานประกวดเครื่องชิ้นโต๊ะที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการนำมาจัดตกแต่งพลับพลา การตั้งร้านขายเครื่องบริโภคต่างๆ อีกทั้งมีการละเล่นมหรสพรื่นเริง อาทิ พิณพาทย์ แตรวง การแสดงลิเก ซึ่งพระองค์ได้เสด็จประทับแรมที่สวนดุสิตครั้งแรกด้วย
“สวนดุสิต” ตามพระราชประสงค์นั้น ต้องการให้เป็นพระราชนิเวศน์สำหรับประทับพักผ่อนพระราชอิริยบถส่วนพระองค์ คล้ายกับพระราชอุทยานในพระราชวังของยุโรป ซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่ ปลูกพืชพันธุ์นานาชนิด และให้ความสงบร่มเย็น พระองค์จึงทรงเสาะแสวงหาพันธุ์ไม้นานาชนิดมาปลูกในสวนดุสิตเพื่อให้กลายเป็นสวนป่า และมีพระราชหัตถเลขาถึงผู้กำกับดูแลการปลูกต้นไม้และจัดการสวนอยู่บ่อยครั้ง
“…ต้นหางนกยูงริมถนนดวงตวันเอนเข้ามาหาถนนหมดทุกต้น ตลอดทั้งแถวหากว่าไม่ดามไว้เผลอๆไปโตขึ้นอีกนิดหนึ่งจะดัดไม่ไป ขอให้รีบไปดามเสียให้ได้โดยเร็วฟากข้างวังก็ไม่ได้ปลูกถ้าไม่ปลูกเสีย ในเวลานี้คงจะโตไม่เท่ากันถ้าหากว่าจะปลูกได้ก็ให้เร่งปลูก ถ้าไม่ปลูกไม่ไหว…” โดยมีความพยายามทดลองปลูกพันธุ์ไม้จากต่างประเทศ อาทิ องุ่นจากทวีปแอฟริกาที่ไม่เจริญงอกงาม และต้นลิ้นจี่ซึ่งออกผลยาก แต่คราวติดลูกเต็มต้น จึงได้มีการเล่นละครทำขวัญ ทั้งนี้ยังมีการปลูกครอบคลุมสองฟากถนนรอบพื้นที่สวนดุสิต ซึ่งล้วนเต็มไปด้วยเหล่าไม้ดอกไม้ประดับ ทั้งต้นประดู่ ต้นสารภี ต้นกระดังงา ต้นชะบา ต้นมะม่วง ต้นขนุน รวมมากกว่า ๑๐๐ ชนิด
ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับ ณ สวนดุสิตบ่อยครั้งขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานสร้างหมู่พระที่นั่งและอาคารเป็นการถาวร คือ พระที่นั่งวิมานเมฆ พระที่นั่งอภิเศกดุสิต พระที่นั่งอัมพรสถาน พระตำหนักสวนหงส์ พระตำหนักสวนสี่ฤดู พระตำหนักสวนนกไม้ เป็นต้น
ทั้งนี้ความสงบร่มเย็นจากการปลูกพันธุ์ไม้นานาชนิดของสวนดุสิต ได้ปรากฎเป็นเอกลักษณ์ใน “พัดรองที่ระลึกงานเถลิงพลับพลาสวนดุสิต” พ.ศ. ๒๔๔๒ มีลักษณะเป็นพัดหน้านาง กรุด้วยผ้ากำมะหยี่ลายดอกไม้นานาพันธุ์ นมพัดรูปกลีบบัว ตรงกลางดุนลายพระราชลัญจกรพระโพธิสัตว์สวนดุสิตประทับห้อยพระบาท (ลลิตาสนะ) บนบัลลังก์ดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูม พระหัตถ์ขวาทอดลงข้างพระวรกาย และมีประภามณฑลด้านหลัง ด้ามไม้ สันงากลึง อันเป็นผลงานการออกแบบของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นอกจากนี้ยังทรงออกแบบพลับพลาที่เสวย (พระเสาวคนธกุฎี) ในสวนแง่เต๋งของวังสวนดุสิตจำนวน ๒ หลัง อีกด้วย ปัจจุบันคือ ศาลาวรสภาภิรมย์ ตั้งอยู่ภายในพระราชวังสวนดุสิต และศาลาสำราญมุขมาตย์ ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
อ้างอิง
ณัฏฐภัทร จันทวิช. ตาลปัตร พัดยศ และสมณศักดิ์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. ๒๕๒๙
บัณฑิต จุลาสัย และคณะ. วังสวนดุสิต. กรุงเทพฯ : มติชน. ๒๕๕๗
สมคิด จิระทัศนกุล. งานออกแบบสถาปัตยกรรมไทย ฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. กรุงเทพฯ : สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์. ๒๕๖๓
ภัทรพล เปี้ยวนิ่ม. พระราชวังสวนดุสิต ทุ่งนาและสวนผลไม้สุดสายตาในอดีตที่กลายเป็นพระราชวังใหญ่ใจกลางพระนคร. เข้าถึงเมื่อ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๖. เข้าถึงได้จาก https://siam-renaissance.com/contents/nobleman/พระราชวังสวนดุสิต/
(จำนวนผู้เข้าชม 310 ครั้ง)