...

รำลึก วันนริศ นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม

          รำลึก "วันนริศ" นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม

          28 เมษายน 2566

          ครบรอบ 160 ปี วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

          ๒๘ เมษายน ของทุกปีถือเป็น “วันนริศ” หรือวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ที่ทรงได้รับยกย่องให้เป็น “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระองค์ ผู้ทรงเปรียบเสมือน “สมเด็จครู” ผู้ทรงเชี่ยวชาญงานช่างและศิลปะไทย และทรงเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานทางศิลปกรรมอันงดงาม อันก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวิทยาการด้านงานช่างและศิลปะไทยอย่างมากมาย ตลอดจนสืบทอดต่อมายังจนปัจจุบัน

          สำหรับประวัติของ “กรมพระยานริศฯ” พระนามเดิม พระองค์เจ้าจิตรเจริญ เป็นพระโอรสลำดับที่ ๖๒ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระมารดา คือ พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์ทรงประสูติเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๐๖ ซึ่งอุปนิสัยของพระองค์ ทรงเป็นผู้มีความรู้และความสามารถในวิชาการต่าง ๆ เป็นอย่างดี เพราะพระองค์ทรงมีพระวิริยะ อุตสาหะ และหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มพูนสติปัญญาอยู่เสมอมาตั้งแต่ยังทรงวัยเยาว์ โดยบทบาทสำคัญที่ทรงทำให้พระองค์ทรงเป็นที่ยอมรับอย่างมาก คือ ความรู้และความสามารถในด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม เป็นต้น ดังจะเห็นได้จากบทบาทและพระราชกรณียกิจของพระองค์ ที่เป็นที่ยอมรับและชื่นชม เช่นจากการที่พระยาอนุมานราชธน ได้กล่าวถึงพระองค์ไว้ว่า

          “ . . . ทรงแสดงให้ปรากฏเห็นว่าเป็นยอดในหมู่ศิลปิน ทางวิจิตรศิลปะไทยอยู่ถึง ๔ สาขา คือ สถาปัตยกรรมศิลปะ จิตรศิลป ดุริยางคศิลปะ และวรรณคดี เพียงแต่พระอุโบสถวันเบญจมบพิตรอย่างเดียวก็พอจะกล่าวได้เต็มปากว่า พระองค์เป็นยอดสถาปัตยศิลปินในแบบที่เป็นศิลปะไทย  . . .” ยกตัวอย่าง ผลงานของพระองค์ที่เป็นที่ยอมรับและยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน 

          “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม” เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมชิ้นเอกของพระองค์ ซึ่งเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระประสงค์ในการก่อสร้างก็เพื่อจะทรงรักษาพระราชประเพณีของพระมหากษัตริย์อันเป็นพุทธศาสนูปถัมภก โดยสถาปัตยกรรมที่ “กรมพระยานริศฯ”ได้ทรงออกแบบสนองพระบรมราชโองการนี้ คือ พระอุโบสถ ระเบียงคต ศาลาหน้าพระอุโบสถ ซุ้มประตู กำแพงวัด พระที่นั่งทรงธรรม และแผ่นศิลาจารึกสำหรับโรงเรียนวัดเบญขมบพิตร  

          อีกหนึ่งผลงานทางสถาปัตยกรรมที่งดงามเลื่องชื่อคือ “พระที่นั่งวิมานเมฆ” ในพระราชวังดุสิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่สวนและนาระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมไปจรดคลองสามเสนด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อจัดสร้างเป็นอุทยานสถานและพระราชทานนามว่า "สวนดุสิต"

          “วัดราชาธิวาสวิหาร" หรือชื่อเดิมคือวัดสมอราย ก็เป็นผลงานการออกแบบของพระองค์เช่นกัน วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็ได้ปฏิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้ง มีการรื้อสิ่งก่อสร้างเก่าๆ หลายอย่างทิ้งไป และสร้างใหม่ขึ้นทดแทน รวมถึงพระอุโบสถหลังใหม่ที่สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นผู้ออกแบบ

          ในวาระ ๑๖๐ ปี ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ทรงสร้างคุณูปการต่อประเทศชาติทั้งในงานด้านช่างและศิลปะทุกแขนง การพัฒนาเพื่อความเจริญมั่นคงของชาติและการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ผู้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของประชาชนอย่างมากมาย จนองค์การยูเนสโก(UNESCO) ยกฐานะให้เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี ในฐานะผู้อนุรักษ์ศิลปกรรมทางประวัติศาสตร์แล้ว รู้สึกเป็นเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระองค์ “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม”

(จำนวนผู้เข้าชม 1164 ครั้ง)


Messenger