วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ : เรียนรู้เรื่องท้องฟ้า ศึกษาพระจันทร์ในสมุดไทย “จันทสุริยคติทีปนี” และ “จันทคาธ”
           วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ : เรียนรู้เรื่องท้องฟ้า ศึกษาพระจันทร์ในสมุดไทย “จันทสุริยคติทีปนี” และ “จันทคาธ”
          ด้วยวันนี้เมื่อ ๑๕๔ ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช ได้แสดงพระปรีชาสามารถด้านดาราศาสตร์ ด้วยทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงล่วงหน้าถึง ๒ ปี จึงถือให้วันที่ ๑๘ สิงหาคมของทุกปีเป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาตินั้น วันนี้ เพจคลังกลางฯ ขอเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับท้องฟ้าในตำราสมุดไทย เล่มหนึ่งคือ “จันทคาธ เล่ม ๓” วรรณกรรมพื้นบ้านที่แพร่หลายอยู่ในดินแดนล้านนา - ล้านช้าง ส่วนอีกเล่มเป็นวรรณกรรมศาสนา เรื่อง “จันทสุริยคติทีปนี” ว่าด้วยเรื่องการศึกษาขนาดและสัณฐานของจักรวาล
          สมุดไทยเล่มแรก เป็นนิทานธรรมจากปัญญาสชาดกปัจฉิมภาค ทางภาคเหนือเรียกว่า “จันต๊ะคาปูจี่” หรือค่าวธรรมจันทคาธชาดก โดย “คาธ” เป็นคำโบราณ มีความหมายเช่นเดียวกับ “คราส” ที่แปลว่า จับ หรือกิน ทั้งนี้ ฉบับที่เก็บรักษาอยู่ในคลังกลางฯ เป็นสมุดไทยขาว เขียนด้วยอักษรหมึกสีดำ เป็นคำประพันธ์ประเภทกาพย์ สำหรับใช้เป็นกลอนสวด กล่าวถึงสามีภรรยาแห่งนครจัมปากะ มีบุตร 2 คน คนพี่ชื่อ “สุริยคาธ” เพราะในวันเกิดเป็นวันที่อสุรินทราหูจับพระอาทิตย์ ส่วนคนน้องชื่อ “จันทคาธ” เพราะเกิดในวันอสุรินทราหูจับพระจันทร์ วันหนึ่งสองพี่น้องต้องออกเดินทางเข้าไปในป่าได้เก็บเปลือกไม้สำหรับชุบชีวิต จึงมีโอกาสได้ช่วยเหลือคน สั่งสมวิชาความรู้ จนต่อมาทั้งคู่ได้เป็นกษัตริย์ปกครองบ้านเมือง ชาดกเรื่องนี้จึงเป็นวรรณกรรมที่สอนให้มีความกตัญญู ซื่อสัตย์สุจริต เสียสละเพื่อส่วนรวมและเมตตากรุณา โดยชีวิตของตัวละครดำเนินไปตามสัจธรรมของมนุษย์ มีช่วงเวลามืดมนและเจิดจ้า คล้ายปรากฏการณ์ข้างขึ้นและข้างแรมตามการกระทำของตัวละคร
          ส่วน “จันทสุริยคติทีปนี” เป็นวรรณกรรมทางศาสนาว่าด้วยเรื่องการโคจรของดวงดาว หน้าต้นระบุนาม พระอุดมมังคลาจารย์ ศิษย์ของพระอุทุมพรมหาเถระ สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ มีพื้นฐานมาจาก “จันทิมสุริยคติกถา” ในคัมภีร์โลกสัณฐานโชรตนคัณฐี ปัจจุบันมีฉบับสำนวนภาษาไทยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้พระธรรมอุดม (มี) แปลอรรถาธิบายเรียงความถวายในพุทธศักราช ๒๓๔๖ โดยฉบับที่เก็บรักษาอยู่ในคลังกลางฯ เชื่อว่าเป็นเล่มสำเนาของฉบับดังกล่าว
          เนื้อหาในจันทสุริยคติทีปนี แบ่งออกเป็น 8 มาติกา (หมวด) เป็นความรู้พื้นฐานเรื่องสัณฐานของจักรวาล มีวิธีการวัดขนาดอย่างการกำหนดมาตร ‘ศอก’ โดยใช้ประมาณของบุรุษ การกำหนดความยาวของหน่วย ‘โยชน์’ ก่อนจะเข้าสู่การบรรยายเกี่ยวกับรูปสัณฐานของโลก การโคจรของพระจันทร์พระอาทิตย์ และดาวนักขัตฤกษ์ดังนี้ 
          “...ว่าเมื่อกาลปักษอุโบสถนั้น พระอาทิตยไปในราษรีเดียวกันกับด้วยพระจันทรก็กลบมณฑลพระจันทรเสียมิให้ปรากฏ เบื้องหน้าแต่นั้นจำเดิมแต่วันชาติบทขึ้นคำหนึ่งเข้าเดือนไหม่ พระอาทิตยก็มละพระจันทรมณฑลเสียไกลออกไปได้แสนโยชน พระจันทรก็ปรากฎดุจหนึ่งรอยเลขะ จำเดิมแต่ขึ้นสองคำไปก็หนีไกลได้วันแสนโยชน ๆ ฝ่ายพระจันทรมณฑลก็มีเงาดำนั้นเปลื้องไปๆ ปริมณฑลก็วัฒนาจำเริญออก ๆ ตราบเท้าถึงวันเพญอุโบสถก็บริบูรรณเตมที่ เพราะเหตุไกลจากพระอาทิตย...”
          อนึ่ง เชื่อว่าหลายท่านคงมีข้อสังเกตว่าเหตุใดในชาดกจึงมีตัวละครที่มีนามเกี่ยวกับ “จันท-” ไม่ว่าจะเป็นจันทกุมาร จันทกินรี จันทเทพบุตร ฯลฯ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าพระจันทร์มักใช้เป็นสื่อแนวคิดทางศาสนา เปรียบเหมือนแสงที่ก่อให้เกิดปัญญา อีกทั้ง “จนฺท” ในภาษาบาลียังหมายถึง ผู้ยังสัตว์โลกให้พอใจ, ผู้ยังความพอใจให้เกิดและผู้รุ่งเรืองด้วยสิริ เปรียบดั่งพระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญบารมีและใช้ธรรมะขจัดอวิชชา ทำให้ชาดกและอรรถกถามีนามพระจันทร์ปรากฏ หรือตัวละครนั้นอาจเกิดใน “จันทรวงศ์” คือเชื้อพระวงศ์อันเนื่องมาจากพระจันทร์ก็เป็นได้
 
 
          ภาพประกอบ : ภาพส่วนหนึ่งในจิตรกรรม เรื่อง จันทคาธ จากวัดหนองบัว จังหวัดน่าน, หนังสือสมุดไทย เรื่อง “จันทคาธ เล่ม ๓” และ “จันทสุริยคติทีปนี” อาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร
          เผยแพร่และเทคนิคภาพโดย พลอยไพลิน ปุราทะกา ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ / ภาพโดย กิตติยา เชื้อทอง นายช่างภาพปฏิบัติงาน กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร
ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 620 ครั้ง)

Messenger