...

ใบเสมาบนภูพระบาท
             เสมา หรือ สีมา เป็นภาษาบาลี หมายถึง เขต ตามคัมภีร์พระพุทธศาสนา (พระวินัยปิฎก มหาวรรค ปฐมภาค อุโบสถขันธกะ และคัมภีร์สมันตปาสาทิกา) ได้กล่าวว่าพระพุทธองค์ให้สงฆ์กำหนดแนวเขตเพื่อทำสังฆกรรมร่วมกันอย่างน้อย 3 ตำแหน่ง ให้สามารถล้อมเป็นวงรอบพื้นที่ได้ โดยใช้นิมิต 8 อย่าง ได้แก่ ภูเขา หิน ป่า ต้นไม้ หนทาง จอมปลวก แม่น้ำ และน้ำที่ขัง คติการปักใบเสมาในพุทธศาสนาจึงเป็นเสมือนการกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อใช้ในการทำพิธีกรรมทางศาสนา
    การปักใบเสมาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาจมีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จากประเพณีการปักหินตั้ง(Megalith) ซึ่งเป็นการปักหลักหินตามเนินดิน ไม่มีจำนวนและทิศทางการปักที่แน่นอนเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมความตาย การนับถือผีหรือไหว้ผีบรรพบุรุษ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมีการรับพุทธศาสนาเข้ามาจึงเกิดการสืบทอดประเพณีการปักหลักหินเพื่อใช้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ผสมผสานความเชื่อท้องถิ่นกับความเชื่อด้านพุทธศาสนา ทำให้การปักหินตั้งเปลี่ยนไปเป็นการปักใบเสมา
    ลักษณะใบเสมาที่พบบนภูพระบาทมีทั้ง แท่งสี่เหลี่ยม แปดเหลี่ยม มีส่วนยอดโค้งมนเป็นโดม และเป็นแผ่นแบนโดยที่ส่วนปลายยอดโค้งแหลมคล้ายกลีบบัว ทั้งนี้ใบเสมาที่พบบนภูพระบาทไม่พบว่ามีการแกะสลักลวดลายใด ๆ ส่วนรูปแบบการปักเสมาส่วนใหญ่ มักปักเพียงชั้นเดียวล้อมรอบเพิงหิน มีเพียงที่ลานหินหน้าวัดพ่อตา ที่ปักเสมาซ้อน 2 ชั้น ในผังสี่เหลี่ยมล้อมรอบลานหินโล่ง
​    ภูพระบาทนับเป็นสถานที่ซึ่งพุทธศาสนาผสมผสานกับการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมยังคงอยู่ร่วมกัน จากการนำเอาหลักหินมาล้อมรอบเสาหินหรือเพิงหิน นอกจากเพื่อบอกเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระสงฆ์ ยังมีการดัดแปลงพื้นที่เพื่อประกอบศาสนกิจ ประดิษฐานพระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อสักการบูชา และเป็นที่พักอาศัยของพระภิกษุอีกด้วย








(จำนวนผู้เข้าชม 1505 ครั้ง)


Messenger