กระต่ายในดวงจันทร์ - วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐
         
    “ที่เราเปรียบผู้ชายเหมือนกระต่าย ผู้หญิงเหมือนพระจันทร์นั้นเป็นของมาทางต่างประเทศ เราละเมอกันด้วยฤทธิ์ซึมซาบ ที่แท้เราเห็นด่างในดวงพระจันทร์เป็นรูปยายกะตาตำข้าวต่างหาก” จากพระวินิจฉัยหัวข้อ ‘สังเกต’ ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ในจดหมายเวรฉบับวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๔๘๕ นำมาซึ่งคอนเทนต์ประจำวันนี้ ด้วยวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระ และเป็นวันไหว้พระจันทร์ของคนจีน เพจคลังกลางฯ จึงใช้โอกาสนี้ นำเสนอเรื่องกระต่ายในดวงจันทร์ ที่มาของคำ คติ ตำนานของแต่ละวัฒนธรรม ตลอดจนงานศิลปกรรมที่ปรากฏในรูปแบบต่าง ๆ
         คำว่า “กระต่าย” สันนิษฐานว่ามีรากศัพท์มาจากคำว่า “กะต้าย” ในภาษามอญ หมายถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง หูและขนยาว อาศัยอยู่ตามโพรงดิน ส่วนภาษาเขมรจะออกเสียงว่า ថោះ (เถาะฮ์) คำเดียวกับที่หมายถึงปีนักษัตรลำดับที่ ๔ ของไทย ส่วนความสัมพันธ์ของดวงจันทร์กับกระต่าย สามารถพบได้ในหลายชนชาติ โดยพิจารณาร่องหลุมบนดวงจันทร์แล้วจินตนาการว่ามีกระต่ายอาศัยอยู่บนนั้น อย่างทางจีนมีปกรณัมเล่าเรื่องว่ากระต่ายเป็นบริวารรับใช้เซียน ทำหน้าที่ปรุงยาอายุวัฒนะ เป็นสัตว์เลี้ยงของ “ฉางเอ๋อ” เทพีดวงจันทร์ หรือมีกระต่ายตำข้าวอยู่บนดวงจันทร์ เช่นเดียวกับทางเกาหลี - ญี่ปุ่น ที่เชื่อว่ามีกระต่ายถือสากยักษ์ตำแป้งอยู่บนดวงจันทร์ นอกจากนี้ ยังมีปกรณัมของฮินดูที่ระบุว่า ‘พระจันทร์’ เป็นเทพผู้ถือกระต่ายไว้ในพระหัตถ์ รวมถึงกระต่ายในภาษาสันสกฤตใช้คำว่า “ศศะ” จึงเป็นที่มาของคำเรียกดวงจันทร์ว่า “ศศินฺ” (แปลว่า ซึ่งมีกระต่าย) ส่วนความเชื่อของคนไทย มีหลักฐานที่ถูกตีความออกมาในงานศิลปกรรมชิ้นสำคัญคือ พระจันทร์ทรงราชรถเทียมม้าบนพื้นหลังสีเงินยวง ประดิษฐานบนหน้าบันด้านทิศตะวันตก (ถนนตีทอง) ของวัดสุทัศนเทพวรารามฯ
         ความเปลี่ยนแปลงด้านรูปแบบศิลปกรรมเกิดขึ้นอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๗ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ระบุไว้ในจดหมายเวรฉบับวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๔๗๐ ว่าได้ทรงออกแบบธงประจำกองลูกเสือแต่ละมณฑล โดย “...ธงพระจันทร์มีรูปกะต่าย ประจำกองลูกเสือมณฑลจันทบุรี...” ลักษณะพื้นธงสีไพล กลางธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมสีม่วง มีรูปกระต่ายในดวงจันทร์สีไพล อันหมายถึงเมืองสำคัญของมณฑลนี้ คือ เมืองจันทบุรี จนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ‘กระต่ายในดวงจันทร์’ ก็ยังคงถูกใช้เป็นตราประจำจังหวัดจันทบุรี ดังที่ระบุว่า กระต่ายเป็นส่วนหนึ่งของดวงจันทร์ เปรียบดั่งนามจันทบุรีอยู่คู่กรุงศรีอยุธยามาแต่แรกสถาปนานั่นเอง 
         นอกจากนี้ “กระต่าย” ยังหมายถึง เครื่องมือสำหรับขูดมะพร้าวที่ยังไม่ได้กะเทาะกะลา หรือที่รู้จักกันในชื่อ ..กระต่ายขูดมะพร้าว.. จึงขอยกเกร็ดความรู้ที่เกี่ยวข้องมานำเสนอ โดยเรื่องราวนี้ปรากฏในจดหมายเวรของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงไปได้ยินเรื่องของคุณมนตรีกับนายศรีแก้วว่า “...วันหนึ่งคุณมนตรีจะแกงไก่... เมื่อได้ลูกมะพร้าวมาเรียบร้อยแล้วคุณมนตรีก็สั่ง... “อ้ายศรีแก้ว ไปหากระต่ายมาตัวไป๊” ...พอดีไปพบหญิงมลายูคนหนึ่งซึ่งเขาเคยมาอยู่กรุงเทพฯ เขาซักว่าท่านจะต้องการกระต่ายนั้นท่านทำอะไรอยู่ นายศรีแก้วก็บอกว่าท่านจะแกงไก่ หญิงมลายูคนนั้นก็ว่า “อา ไม่ใช่ร้อก เล่กคู้ด เล่กคู้ด” นายศรีแก้วก็เข้าใจ เอาเหล็กขูดมะพร้าวมาให้คุณมนตรีก็เป็นที่เรียบร้อย แล้วยังได้ทราบต่อไปว่าทางพายัพเขาเรียกว่า “แมว” ...” ซึ่งคำว่าแมวในที่นี้ นอกจากจะหมายถึงเหล็กขูดมะพร้าวของชาวเหนือแล้ว “แมว” ยังถูกใช้แทนนักษัตรปีเถาะในบางวัฒนธรรมอย่างประเทศเวียดนาม (แม้จะเป็นประเทศที่ไม่ค่อยมีกระต่ายอาศัยอยู่ก็ตาม)
          ก่อนจะจากกันไปขอส่งท้ายด้วยผลสรุปทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับ “ร่องจันทรสมุทร” (Lunar mare) อันเป็นลวดลายที่มนุษย์มองว่าคล้ายกระต่ายนั้น นักดาราศาสตร์ได้อธิบายไว้ว่าเมื่ออุกกาบาตพุ่งชนดวงจันทร์จนเกิดเป็นหลุมขนาดใหญ่จำนวนมาก จากนั้นลาวาได้เข้าท่วมจนเกิดเป็นพื้นที่สีทึบเรียกว่า มาเร (mare) ส่วนพื้นที่ที่อยู่สูงกว่า บริเวณนั้นจะมีสีจางกว่า เรียกว่า ที่สูงดวงจันทร์ (Lunar highland) จึงอาจกล่าวได้ว่าแท้จริงแล้ว “กระต่ายเป็นทะเล... ไม่ใช่เขา” 
          เผยแพร่โดย ศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ / ภาพโดย กิตติยา เชื้อทอง นายช่างภาพปฏิบัติงาน / เทคนิคภาพโดย ณัฐดนัย อรุณมาศ ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ
ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 2440 ครั้ง)

Messenger