...

มหามกุฏราชสันตติวงศ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา

     มหามกุฏราชสันตติวงศ์ : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา

     พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๖๑ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ที่ประสูติแต่ท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด พระสนมเอก) ธิดานายสมบุญ งามสมบัติ กับท้าวปฏิบัติบิณฑทาน (ถ้วย) 

ประสูติเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๐๖ ครั้นเจริญพระชนมายุสมควรได้ทรงศึกษาหนังสือไทยกับคุณปานธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ในพระบรมมหาราชวัง แล้วทรงศึกษาภาษาขอมกับพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม)  ทั้งยังได้ศึกษาภาษาอังกฤษกับนายฟรานซิส ยอห์ชแปตเตอร์สัน กระทั่งโสกันต์และผนวชเป็นสามเณรจำพรรษา ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม และเริ่มรับราชการ กระทั่งพระชันษาได้ ๒๔ ปีจึงทรงผนวชเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ ณ วัดราชประดิษฐ เมื่อลาสิกขาบทแล้ว จึงทรงทำราชการต่อมา

     ในรัชกาลที่ ๕ ทรงดำรงพระยศ “พระเจ้าน้องยาเธอ” ทรงรับราชการในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ตั้งแต่ก่อนผนวชพระได้เป็นนายร้อยเอก ราชองครักษ์  และรับราชการเป็นผู้ช่วยในกรมราชเลขานุการ (ไปรเวตสิเกรตารีออฟฟิศหลวง) เมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๓ ในพุทธศักราช ๒๔๒๖ ได้เป็นผู้ช่วยการสถานทูตออกไปประจำ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และเป็นหนึ่งในคณะราชทูตพิเศษไปเจริญทางพระราชไมตรี ณ สหรัฐอเมริกา  กระทั่งในพุทธศักราช ๒๔๒๘ จึงเสด็จกลับสยามรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชเลขานุการฝ่ายต่างประเทศ แล้วเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำมณฑลพายัพ  

ครั้นพุทธศักราช ๒๔๓๔ ทรงสถาปนาเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา ในปีต่อมา โปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงมุราธร และเป็นผู้แทนเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการอีกตำแหน่งหนึ่ง ในพุทธศักราช ๒๔๓๗ โปรดให้เป็นสภานายกรัฐมนตรีในรัฐมนตรีสภา อันมีหน้าที่ด้านกฏหมายในขณะนั้น พุทธศักราช ๒๔๓๙ โปรดเลก้าฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ได้เปิดใช้ทางรถไฟสายโคราช และเริ่มการสร้างทางรถไฟสายเพชรบุรี ก่อนจะโปรดเกล้าฯ ให้มารับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง โดยทรงดำรงตำแหน่งอยู่นานที่สุดในรัชกาลนั้น และทรงใช้สอยสนิทสนม เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ด้วยทรงกล้าแสดงความคิดเห็นในกิจการต่างๆ อยู่เสมอ  และในพุทธศักราช ๒๔๔๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา 

     นอกจากราชการประจำที่ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีแล้ว ยังทรงมีราชการพิเศษอื่นๆ อาทิ สภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ ลัญจกราภิบาลแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า และมงกุฎสยาม มรรคนายกวัดมหาพฤฒาราม เป็นต้น นอกจากนี้ ทรงเชี่ยวชาญในเครื่องลายคราม ซึ่งในสมัยนั้นเรียกเครื่องกิมตึ๋ง อันเป็นงานอดิเรกที่สนพระทัยได้รับยกย่องให้เป็น “สังฆราชกิมตึ๋ง” 

     พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดาได้ทรงรับราชการมาหลายตำแหน่งด้วยทรงมีพระวิริยะและชำนาญในวิทยาการที่ทรงศึกษา โดยเฉพาะในราชประเพณี ทรงจัดราชการให้เป็นไปตามพระราชนิยมสมควรแก่การ มีพระอัธยาศัยซื่อตรง ดำรงอยู่ในความสุจริตและจงรักภักดีอย่างยิ่ง ในปลายรัชกาลที่ ๕ นั้น ทรงมีพระอนามัยทรุดโทรมไม่สามารถรับราชการได้จึงกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ รับพระราชทานเบี้ยหวัดตลอดมา ในรัชกาลที่ ๖ มีพระอาการประชวรต้องเสด็จไปรักษาพระองค์ตามหัวเมืองอยู่เสมอ กระทั่งครั้งสุดท้ายเสด็จประพาสหัวหิน และประชวรมาก ต้องพักรักษาพระองค์ที่เพชรบุรี ครั้นกลับกรุงเทพฯไม่นานจึงสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๔๕๖ สิริพระชันษา ๕๐ ปี พระราชทานเพลิงศพ พร้อมด้วยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาสดิ์ ตลอดจนเจ้านายและข้าราชการอื่นๆ ทั้งสิ้น ๘ งาน  ณ พระเมรุวัดราชาธิวาส ทรงเป็นต้นราชสกุล โสณกุล

 

อ้างอิง

ศิลปากร, กรม. ราชสกุลวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ ๑๔ .กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ สกสค.ลาดพร้าว, ๒๕๕๔.

สมเด็จพระสังฆราช (สา). หนังสือพระธรรมเทศนา อภิณ์หปัจจ์เวก์ขณปาฐ. ม.ป.ท. : ม.ป.พ., ๒๔๕๗. (พิมพ์แจก

ในงานพระเมรุ พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ณ วัดราชาธิวาส พ.ศ.๒๔๕๗) 

พิทยลาภพฤฒิยากร, พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่น. อัตตชีวประวัติ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร.  

ม.ป.ท. : ม.ป.พ., ๒๕๑๗.(พิมพืในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ณ พระเมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๑๕ ธันวาคม ๒๕๑๗)

เรียบเรียง : ณัฐพล  ชัยมั่น

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี

(จำนวนผู้เข้าชม 1566 ครั้ง)


Messenger