เสาชิงช้าเป็นเครื่องประกอบพิธียืนชิงช้า (โล้ชิงช้า)
เสาชิงช้าเป็นเครื่องประกอบพิธียืนชิงช้า (โล้ชิงช้า) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีตรียัมปวาย ตรีปวาย (พิธีต้อนรับพระอิศวรและพระนารายณ์ที่เสด็จลงมายังโลกมนุษย์ช่วงเทศกาลปีใหม่ของพราหมณ์) คติการโล้ชิงช้าสันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับการบูชาพระสุริยะมาแต่เดิม เนื่องจากในคัมภีร์ฤคเวทกล่าวว่าพระอาทิตย์เปรียบดั่งชิงช้าสีทองที่ลอยอยู่บนฟ้า เหมือนกับการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ ต่อมาปรับเปลี่ยนและแทนที่ด้วยเทพสำคัญในยุคหลังอย่างพระศิวะ (อิศวร) เทพแห่งการทำลายล้างและสร้างขึ้นใหม่ ทั้งการแกว่งชิงช้ายังแกว่งไปตามแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก สอดคล้องกับพระบรมราชอรรถาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสรุปได้ว่า พิธีตรียัมปวาย ตรีปวาย เดิมจัดขึ้นในเดือนอ้ายคงเป็นเพราะพราหมณ์นับช่วงต้นฤดูหนาวเป็นช่วงผลัดเปลี่ยนปี เพราะฤดูหนาวเป็นเวลาพ้นจากมืดฝนจึงเปรียบดั่งเวลาเช้าและถือเป็นต้นปี ฤดูร้อนเป็นเวลาสว่างและร้อนดั่งกลางวันจึงถือเป็นกลางปี และฤดูฝนมืดครึ้มดั่งกลางคืนจึงถือเป็นปลายปี นอกจากนี้ ยังว่ากันว่าสีแดงของเสาชิงช้าคือสีแดงแห่งรุ่งอรุณ
ลักษณะของเสาชิงช้าช่างโบราณเรียกว่า “ประตูยอดเกี้ยว” ซึ่งลักษณะประตูเช่นนี้ปัจจุบันเหลือเพียงหลักฐานเอกสาร และงานจิตรกรรมฝาผนัง ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า “...ได้ยินมาว่าประตูพระนครชั้นเดิม ซึ่งสร้างในรัชกาลที่ ๑ เป็นประตูไม้ทาดินแดงมียอดเกี้ยว เหมือนเช่นที่เขียนไว้ที่ผนังด้านหน้าข้างในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง...” เรื่องราวและหลักฐานดังกล่าวยังสอดรับกันดีกับการที่เสาชิงช้าเปรียบดังประตูต้อนรับพระอิศวรอีกด้วย
ย้อนกลับมาที่ตัววัตถุ เดิมแอดมินสันนิษฐานว่าเสาชิงช้าจำลองชิ้นนี้คงจะเป็นของที่ระลึกในงานฉลองเสาชิงช้า เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นหนึ่งในงานเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙) โดยครั้งนั้นเป็นการนำไม้สักทองที่เหลือจากการบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า ปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ มาผลิตชิ้นงาน โดยย่อส่วน ๑ : ๕๐ จากขนาดจริง (สูงราว ๔๒ เซนติเมตร) และแกะสลักส่วนกระจัง หูช้าง และตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร ด้วยเลเซอร์ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบรูปแบบกับวัตถุในคลังกลางฯ มีความต่างทั้งส่วนฐานที่อยู่ในผังสี่เหลี่ยมและมีลิ้นชักขนาดเล็ก และไม่ปรากฎตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร ตลอดจนความละเอียดในการสลักลวดลายก็ไม่ประณีตเท่า
จากการสืบค้นแอดมินพบว่าเสาชิงช้าจำลองของคลังกลางฯ คล้ายกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท สยามเทวา จำกัด อันเป็นบริษัทชั้นนำที่ผลิตนาฬิกาไม้โบราณมาตั้งแต่ราวพุทธศักราช ๒๕๒๖ ภายใต้ชื่อแบรนด์ คาเมลอท (Camelot) ที่ได้แรงบันดาลใจจากนิยายกรีก และต้องการขายชาวต่างชาติจึงตั้งชื่อด้วยภาษาต่างประเทศ โดยหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของบริษัท คือ นาฬิกาไม้รูปทรงเสาชิงช้า ซึ่งมีรูปทรงคล้ายกับวัตถุในคลังกลางฯ ทั้งนี้จากบทสัมภาษณ์ คุณก่อเกียรติ สุวรรณบุณย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ในวารสารเทคโนโลยีวัสดุ ทำให้เราทราบว่า นาฬิกาไม้ดังกล่าวคงจะผลิตขึ้นจากไม้สัก และภาพรวมแนวคิดในการผลิตชิ้นงานของบริษัท คือ เน้นรูปแบบวิกตอเรียน แต่บางผลิตภัณฑ์มีรูปแบบไทย ๆ เช่นกัน และตกแต่งให้ดูเก่าโบราณเหมือนถูกใช้งานมาแล้ว ดังนั้นเทคนิคสำคัญคือการตกแต่งผิวนาฬิกาไม้ของบริษัทด้วยการลงสีด้วยผงสีจากเยอรมัน โดยสีหลัก ๆ จะมีสีวอลนัท สีมะฮอกกานี และสีแอนทีกบราวน์ เมื่อลงสีแล้วก็นำไปขัด ทำอย่างนี้ซ้ำไปมาด้วยมือทุกขั้นตอน นอกจากนี้การออกแบบชิ้นงานส่วนใหญ่คุณก่อเกียรติก็เป็นผู้ออกแบบเอง โดยมองถึงความต้องการของตลาด และความยากง่ายในการผลิตซึ่งจะสัมพันธ์กับเรื่องของต้นทุน
จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมด ทำให้ได้รับรู้ข้อมูลทั้งในด้านวัสดุที่ใช้ผลิตชิ้นงาน เทคนิคขั้นตอนในการผลิต และที่สำคัญคือทราบว่าวัตถุชิ้นนี้แท้จริงคือนาฬิกาตั้งโต๊ะ ที่ผลิตขึ้นในช่วงพุทธศักราช ๒๕๒๖ (ปีก่อตั้งบริษัท) จนถึงพุทธศักราช ๒๕๔๙ (พิจารณาจากรูปแบบหัวเม็ดของเสาตะเกียบที่มีรูปแบบก่อนการบูรณปฏิสังขรณ์ในพุทธศักราช ๒๕๔๙) มากไปกว่านั้นยังได้รับรู้ความเป็นมาและแนวคิดเบื้องหลังในการสรรสร้างชิ้นงานอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ด้วยวัตถุชิ้นนี้เป็นวัตถุรับมอบจากเอกชน เมื่อครั้งรับมอบมานั้นคงจะมีสภาพชำรุดเหลือเพียงเสาชิงช้า จึงทำให้ผู้บันทึกข้อมูลระบุเป็น “เสาชิงช้าจำลอง” แต่เมื่ออ่านมาจนถึงตรงนี้ แอดมินก็อยากชวนท่านผู้อ่านทุกท่านคิดเห็นต่อไปว่าวัตถุชิ้นนี้ควรเรียกเสียใหม่ว่าอย่างไร จะเป็น “โครงนาฬิการูปเสาชิงช้า” “นาฬิกาตั้งโต๊ะรูปเสาชิงช้า” หรือยังคงเรียก “เสาชิงช้าจำลอง” ได้เช่นเดิม ท่านผู้อ่านเห็นว่าอย่างไรกันบ้างครับ ?
__________________________
สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า
พุทธศักราช ๒๕๔๙. กรุงเทพฯ : สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร,
๒๕๕๑.
__________. เทวสถาน (โบสถ์พราหมณ์) - เสาชิงช้า.
กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้งท์, ๒๕๕๑.
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สาส์นสมเด็จ เล่มที่ ๒๔.
กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, ๒๕๐๕.
พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.
พระราชพิธีสิบสองเดือน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทย, ๒๔๖๓.
งานพระศพ พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าเจริญศรี.
กุลจิรา สุจิโรจน์ และคณะ. “นาฬิกาไม้โบราณ : ศิลปะแห่งชีวิต.”
เทคโนโลยีวัสดุ. ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๒๗ (เมษายน - มิถุนายน ๒๕๔๕),
๗๑ - ๗๔.
เรียบเรียงและเทคนิคภาพโดย อริย์ธัช นกงาม ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร
(จำนวนผู้เข้าชม 6681 ครั้ง)