...

เทศกาลตรุษจีน ตอนที่ ๑ จาก “ขนมจีน” สู่ “เกาเหลา” เรื่องเล่าจาก พิธีตรุษจีนหลวง

     เทศกาลตรุษจีน ตอนที่ ๑  จาก “ขนมจีน” สู่ “เกาเหลา” เรื่องเล่าจาก พิธีตรุษจีนหลวง 

     พิธีตรุษจีน นับเป็นพิธีสำคัญของชาวจีน เป็นการเซ่นไหว้ขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สำหรับความช่วยเหลือคุ้มครองในปีที่ผ่านมา และขอพรสำหรับการเริ่มต้นปีใหม่  ซึ่งจะมีการเซ่นไหว้เทพเจ้า บรรพบุรุษ และผีไร้ญาติ ซึ่งการไหว้ผีไร้ญาติ ชาวจีนโพ้นทะเลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการรำลึกถึงเพื่อนผู้ร่วมชะตากรรมที่ออกมาแสวงหาชีวิตใหม่ในดินแดนใหม่

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีชาวจีนเดินทางเข้ามาในแผ่นดินสยามเป็นจำนวนมากกลุ่มชาวจีนได้มีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจของสยามในขณะนั้นอย่างยิ่งซึ่งกลุ่มชาวจีนได้มีบทบาทสำคัญอย่างหนึ่งในระบบเศรษฐกิจของราชสำนักสยาม นั่นคือ การเป็นเจ้าภาษีนายอากร ผู้รับประมูลเก็บภาษีต่างๆ ส่งพระคลังหลวง ชาวจีนเหล่านี้ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนนาง และในเวลาต่อมาจะเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะในสังคมสยาม

     รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน กลุ่มเจ้าภาษีนายอากร หรือผู้มั่งมีชาวจีนในกรุงเทพฯ ต่างนำสิ่งของมาทูลเกล้าฯ ทูลกระหม่อมถวาย เป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชปรารภว่า สิ่งของเหล่านี้ ควรจะได้เป็นไปในทางการกุศล จึงโปรดให้มีการพระราชกุศลขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว โดยให้มีการเลี้ยงพระสงฆ์ที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย สามวัน

     นอกจากนี้สิ่งของที่บรรดาชาวจีนนำมาถวายในเทศกาลตรุษจีนแล้ว ยังมีสิ่งหนึ่งซึ่งโปรดให้บรรดาเจ้านายพระราชวงศ์ ท้าวนางในราชสำนัก จัดมาร่วมในเทศกาลตรุษจีนด้วย สิ่งนั้น คือ “ขนมจีน”

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพรรณนาไว้ในพระราชนิพนธ์ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ความว่า 

 

“....ได้โปรดให้มีเลี้ยงพระสงฆ์ที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยขึ้นทั้งสามวัน แต่ไม่มีสวดมนต์ พระสงฆ์ฉันวันละ ๓๐ รูป เปลี่ยนทุกวัน ...โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ และท้าวนางข้างใน จัดเรือขนมจีนมาจอดที่หน้าตำหนักแพ พวกภรรยาข้าราชการผู้ใหญ่ๆ ที่ทรงรู้จักเคยเฝ้าแหนก็จัดเรือขนมจีนมาถวายผลัดเปลี่ยนเวรกันไปทั้งสามวัน ตัวก็มาเฝ้าด้วย แล้วให้ทนายเลือกกรมวังคอยรับขึ้นมาถวาย พระสงฆ์ฉันแล้วจึงได้เลี้ยงข้าราชการต่อไป...”

 

     เทศกาลตรุษจีน จึงได้เข้าสู่ราชสำนักนับตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา และเป็นธรรมเนียมที่จะมีการถวายภัตตาหารและเลี้ยงขนมจีน เรื่อยมาจนกระทั่งถึงรัชกาลที่ ๔  พระองค์ทรงมีความสนพระทัยในทางศาสนา ตลอดจนขนบธรรมเนียมต่างๆ อย่างยิ่ง ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการพระราชกุศลเนื่องในเทศกาลตรุษจีนว่าด้วยของเลี้ยงพระในเทศกาลนี้ ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล่าใน “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ว่า 

 

“... ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า การที่ทำบุญตรุษจีนเลี้ยงขนมจีนนั้นไม่ใช่ของจีน เป็นแต่สักว่าชื่อเป็นจีน ให้ทำเกาเหลาที่โรงเรือยกเข้ามาเลี้ยงพระสงฆ์แทนขนมจีน เป็นของหัวป่าก์ชาวเครื่องทำ...”

 

     ความสำคัญของเกาเหลา เมนูอาหารอย่างหนึ่งในครั้งนั้น ทำให้เกิดตำแหน่งขึ้นราชการครั้งนั้นด้วย คือ เจ้ากรมเกาเหลาจีน ซึ่งมีหลักฐานในราชกิจจานุเบกษาครั้งรัชกาลที่ ๔ ว่า

 “...ให้ตั้งจีนเอ้ง เป็น ขุนราชภัตการ จางวางจีนช่างเกาเหลา พระราชทานให้ถือศักดินา ๕๐๐  ทำราชการตั้งแต่ ณ วันจันทร์ เดือนแปด บุรพาสารทแรมสิบค่ำ ปีมะเมียสัมฤทธิศก...” 

     ขุนราชภัตการผู้นี้ ต่อมาได้เลื่อนขึ้น เป็น หลวงราชภัตการ มีธิดาคนหนึ่งชื่อเพ็ง ถวายตัวทำราชการฝ่ายในเป็นนางละครหลวง เจ้าจอมอยู่งาน และเป็นเจ้าจอมมารดา  มีพระราชธิดาคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้านงคราญอุดมดี  ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เอง ที่โปรดให้มีการตั้งเครื่องเซ่นสังเวยเทวรูปจากหอแก้วในพระบรมมหาราชวัง เชิญมาประดิษฐานในศาลเก๋งจีนข้างพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย พร้อมทั้งตั้งเครื่องสังเวยทั้งสามวัน  โปรดให้อาลักษณ์อ่านประกาศ โดย “...ขอพรข้างปลายเป็นการเทวพลีให้เข้าเค้าอย่างเช่นของจีน...”  รวมถึงโปรดให้มีการตั้งเครื่องเซ่นอย่างจีน ถวายหน้าพระพุทธรูปเพิ่มเติมไปด้วย  รวมถึงมีของถวายพระอย่างจีนจัดบรรทุกบนหลังโค คือ แตงอุลิด ขนมเข่ง กระเทียมดอง สิงโตน้ำตาลทราย ส้ม เป็นต้น 

     การพระราชกุศลเนื่องในเทศกาลตรุษจีน ยังมีมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในต้นรัชกาล ได้กลับไปใช้แบบแผนอย่างรัชกาลที่ ๓ โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน 

 

“...ได้ขอกลับเปลี่ยนไปอย่างแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอให้มีเรือขนมจีนอย่างเก่า ให้ภรรยาของท่านและเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ จัดขนมจีนมาถวายและมาเฝ้าเหมือนอย่างแต่ก่อน ในการตรุษจีนสมเด็จเจ้าพระยาอยู่ข้างจะเป็นธุระเห็นสุนกสนานมาก ตัวท่านเองก็อุตส่าห์มาเฝ้าพร้อมกับขุนนางทั้ง ๓ วัน ทุกๆ ปีมิได้ขาดเลย...” 

 

   “ขนมจีน” จึงได้กลับมาอีกครั้ง ในรัชกาลที่ ๕ ขณะเดียวกัน “เกาเหลา” นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล่าไว้ใน พระราชพิธีสิบสองเดือนไว้สั้นๆ ว่า “...แล้วผู้ทำก็ล้มตายหายจาก กร่อยๆ ลงก็เลยละลายหายไปเอง...” สันนิษฐานว่า กรมเกาเหลาจีน คงจะสิ้นสุดบทบาทลงในรัชกาลนี้ แต่ถึงแม้ว่ากรมเกาเหลาจีน จะไม่มีแล้ว แต่ก็ปรากฏว่า ข้าราชการเชื้อสายจีนคือ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียร)  และพระยาสวัสดิ์วามดิฐ (ฟัก) ได้นำนำเครื่องอย่างจีนตั้งถวายเป็นพระกระยาหาร เลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์ ดังปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาคที่ ๑๓ จุลศักราช ๑๒๔๔ (พุทธศักราช ๒๔๒๕)   ความตอนหนึ่งว่า 

“....เวลาเช้า ๕ โมงเศษ เสด็จออกทรงพระราชยานไปประทับพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ทรงจุดเทียนนมัสการ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ถวายศีลแล้ว ทรงประเคนพระสงฆ์รับพระราชทานฉันในการตรุษจีนเป็นคำรบ ๓ โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ทูลกระหม่อมฟ้าชายพระองค์ใหญ่เสด็จไปจุดเครื่องสังเวยและปล่อยปลา ครั้นพระกลับแล้ว เสด็จออกขุนนางที่นั่น...แล้วเสด็จกลับมาประทับซิตติงรูมพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชทานโต๊ะเกาเหลาอย่างจีนเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์ประทับโต๊ะเสวยด้วย เวลาบ่าย ๓ โมงเศษเลิก เสด็จขึ้น....” 

 

ผู้เขียน : วสันต์  ญาติพัฒ  ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี

 

ภาพประกอบ : ท่าราชวรดิฐ สถานที่ประกอบการพระราชกุศลเลี้ยงพระเนื่องในเทศกาลตรุษจีน ถ่ายในสมัยรัชกาลที่ ๕

 

อ้างอิง 

จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาค ๑๓.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๔๗๙. (พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าวาณีรัตนกัญญา ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๙) 

จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๔๓๓. กรุงเทพฯ :  โรงพิมพ์ตีรณสาร, ๒๕๑๔.(พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระ บรมราชานุญาตให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงลัย เทพาธิบดี (ลัย บุนนาค) ต.จ. ณ เมรุวัด ธาตุทอง วันอาทิตย์ที่ ๑๔พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๔)

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. กรุงเทพฯ : แสงดาว, ๒๕๕๖.

ราชกิจจานุเบกษาในรัชกาลที่ ๔.กรุงเทพฯ :สำนักราชเลขาธิการ, ๒๕๓๗. (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายประกอบ  หุตะสิงห์ ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลา อิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ ๒๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗) 

ศิลปากร, กรม. พระราชพิธีสังเวยพระป้าย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๒๐.

(จำนวนผู้เข้าชม 813 ครั้ง)


Messenger