วิถีชาวนากับภาษาไทย ตอนที่ ๑ ควายจมปลัก
วิถีชาวนากับภาษาไทย ตอนที่ ๑ "ควายจมปลัก"
จมปลัก ประกอบด้วยคำว่า "จม" กับ "ปลัก"
"จม" หมายถึง หายลงไปในดินหรือน้ำ หรือหมายถึงทำให้อยู่ใต้น้ำ
นอกจากนี้ คำว่า จม ยังมีความหมายโดยปริยายว่า อยู่กับที่ เช่น
- เขาจมอยู่กับความทุกข์
- เก็บเงินไว้เฉย ๆ เงินจมอยู่เปล่า ๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไร
- เขาจมอยู่กับกองหนังสือทั้งวัน
"ปลัก" หมายถึง แอ่งที่เป็นโคลนเลน เช่น
- ควายนอนแช่ปลัก
- ม้าวิ่งเตลิดตกลงไปในปลัก (เตลิด ภาษาโคราช แปลว่า เลยไป)
เมื่อใช้ จมปลัก เป็นสำนวน จะหมายความว่า
"ติดอยู่ที่เดิม ติดอยู่กับที่ ทำให้ไม่เจริญก้าวหน้า" เช่น
- พี่สาวจมปลักอยู่แต่ในบ้าน ความคิดอ่านจึงสู้น้องสาวที่ออกไปทำงานนอกบ้านไม่ได้
- คนมีความสามารถอย่างคุณไม่ควรจมปลักอยู่ในบริษัทนี้ ควรจะหาบริษัทที่คุณมีโอกาสก้าวหน้ากว่านี้
ภาพของชาวนากับควายนั้น ในอดีตมีความผูกพันกันมาก เมื่อเห็นควายก็สื่อได้ถึงภาพของชาวนา คันไถ ทุ่งนา รวงข้าว หรือแม้แต่ประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำนาคือพิธีสู่ขวัญควาย ประเพณีเฉพาะของท้องถิ่น ประเพณีวิ่งควายจังหวัดชลบุรี ประเพณีบวชควายในงานบุญบั้งไฟของภาคอีสาน เป็นต้น ซึ่งพิธีและประเพณีต่าง ๆ นั้นทำเพื่อขอบคุณควายที่ชาวนาได้ใช้แรงงานของควายไถนา เพื่อปลูกข้าวมาเป็นอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตของคน จึงกล่าวได้ว่าควายนั้นมีบุญคุณกับคน เนื่องจากได้อาศัยใช้แรงงานควายทำงานต่าง ๆ
นอกจากนั้นแล้วควายยังเป็นพาหนะสำคัญในอดีตใช้ขี่หรือใช้เทียมเกวียน ลากเกวียน หรือแม้แต่การใช้ควายเป็นพาหนะเพื่อใช้ในการสู้รบของชาวบ้านบางระจันกับกองทัพพม่าก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒
นางสาวภัทรา เชาว์ปรัชญากุล ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย สุพรรณบุรี เรียบเรียง/เผยแพร่
ภาพได้รับความอนุเคราะห์และการสนับสนุนจาก page facebook : แค่อยากออกไป โดยคุณวราภรณ์ ไทยานันท์ Warabhorn Taiyanun
ที่มาข้อมูล
- สืบค้นระบบออนไลน์จาก www.royin.go.th (วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓)
- วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดสุพรรณบุรี
- วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดชลบุรี
- วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดแพร่
- วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดมหาสารคาม
- วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดร้อยเอ็ด
- วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดยโสธร
- วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดสกลนคร
(จำนวนผู้เข้าชม 2180 ครั้ง)