...

ดอกพิกุล จากความเชื่อสู่งานศิลปะ
"พิกุล" (ชื่อวิทยาศาสตร์: Mimusops elengi Linn.) เป็นพืชที่มีต้นกำเนิดในประเทศอินเดีย พม่า มาเลเซีย ไทย และตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย มักพบตามป่าดงดิบ ลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีดอกสีขาวขนาดเล็ก กลิ่นหอม ผลสีแสดรูปไข่ เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งที่นำไปใช้ทำประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งทำเครื่องเรือน เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคต่าง ๆ และมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อมากมาย
ตามความเชื่อของพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู พิกุลเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งในสวนมิสกวันของพระอินทร์ซึ่งตั้งอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นอกจากนี้ คนไทยเชื่อกันว่าพิกุลเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และเป็นไม้มงคลที่มีเทวดาสถิตรักษาอยู่จึงนิยมปลูกไว้ในบ้านบริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เพื่อให้เจ้าของบ้านมีอายุยืนยาว สุขภาพร่างกายแข็งแรงซึ่งสอดคล้องกับสรรพคุณทางยาของพิกุล ไม่ว่าจะเป็นการบำรุงหัวใจ บำรุงครรภ์ แก้วิงเวียน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงมักพบดอกพิกุลในงานศิลปกรรมมาตั้งแต่อดีต อาทิ ลวดลายบนเครื่องสังคโลกจากอาณาจักรสุโขทัย ลายจีวรของพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ตามแบบจีวรที่พระสงฆ์ในสมัยนั้นนิยมนุ่งห่ม รวมถึงเป็นลวดลายประดับประเกือม (ลูกปัด ทำจากเงินหรือทอง) ในวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดสุรินทร์ โดยถือเป็นเครื่องหมายของการบูชาในพิธีกรรมและเป็นนัยยะเชิงคำสอนเกี่ยวกับความเสมอภาค การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และความยุติธรรม
นอกจากนี้ พิกุลยังเป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกโดยพระมหากษัตริย์ผู้เป็นสมมติเทพจะทรงโปรยดอกพิกุลทอง ดอกพิกุลเงินระหว่างพระราชพิธี เปรียบเสมือนเทพเจ้าทรงโปรยดอกไม้จากสวรรค์ลงมาให้มนุษย์ได้เก็บนำไปบูชาเป็นสิริมงคล รวมทั้งได้รับการกล่าวถึงในงานวรรณศิลป์ด้วย เช่น ในหนังสือมหาชาติคำหลวงที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดเกล้าฯ ให้แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๕ และในบทละครนอกสมัยกรุงศรีอยุธยา เรื่อง พิกุลทอง
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าพิกุลมีอิทธิพลต่อความเชื่อในพระราชพิธีของราชสำนักไทย งานศิลปกรรม และงานวรรณศิลป์ ซึ่งสะท้อนความเชื่อในด้านต่าง ๆ ทั้งความเชื่อทางศาสนาและความเชื่อในท้องถิ่นที่มีจุดเริ่มต้นมาจากธรรมชาติรอบตัว ก่อนจะหลอมรวมเข้ากับงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ เกิดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญของชาติตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

(จำนวนผู้เข้าชม 9998 ครั้ง)


Messenger