...

คนสุโขทัยก็เล่นหมากรุก

เชื่อหรือไม่? คนสุโขทัยก็เล่นหมากรุก
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๖ มีการดำเนินงานขุดแต่งทางโบราณคดีที่พระราชวังโบราณ เมืองศรีสัชนาลัย (ปัจจุบันอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย) ในการทำงานคราวนั้น นักโบราณคดีได้พบโบราณวัตถุต่าง ๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือ หมากรุกสังคโลก ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก
เชื่อกันว่าหมากรุกของไทยพัฒนามาจากเกมกระดานของอินเดียที่ชื่อว่า จตุรงค์ (Chaturanga) ซึ่งกำเนิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ก่อนจะแพร่ขยายไปยังดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลกรวมถึงดินแดนสุวรรณภูมิ สันนิษฐานว่าหมากรุกน่าจะเข้ามาพร้อมกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ เป็นอย่างน้อย โดยระยะแรกอาจเป็นเกมการละเล่นในราชสำนัก ดังที่พบตัวหมากรุกที่พระราชวังโบราณ เมืองศรีสัชนาลัย รวมถึงการพบหลักฐานอื่น ๆ เช่น ข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๓ จารึกนครชุมที่สร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไทย) มีใจความว่า “...เมืองอันใดก็รู้สิ้นอันรู้ศาสตร์...อ...อยูกต สกาจตุรงค์กระทำยนตร์ขี่ช้าง...” ซึ่งคำว่า จตุรงค์ ในที่นี้หมายถึงหมากรุกนั่นเอง ไม่เพียงเท่านั้นยังพบหมากรุกที่ผลิตจากแหล่งเตาเวียงกาหลงของอาณาจักรล้านนาอีกด้วย
หมากรุกที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก จึงเป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นว่าการเล่นหมากรุกในดินแดนไทยปรากฏมีมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย และยังคงเป็นการละเล่นที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน

(จำนวนผู้เข้าชม 1661 ครั้ง)