สังคโลกสู่การเป็นสินค้าส่งออก
สังคโลกสู่การเป็นสินค้าส่งออก
การค้าสังคโลกเริ่มต้นขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ โดยเริ่มจากการติดต่อค้าขายกับเมือง
ที่ได้รับอิทธิพลจากสุโขทัยและเมืองท่าริมชายฝั่งทะเลในภาคใต้ และเริ่มเฟื่องฟูมากขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การส่งออกเครื่องถ้วยของจีนซบเซาลงเนื่องจากนโยบายทางการค้าและการเมืองภายในของราชวงศ์หมิง ทำให้เครื่องสังคโลกและเครื่องถ้วยจากเวียดนามก้าวขึ้นมาครองตลาดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทนเครื่องถ้วยจีน เราจึงพบเครื่องถ้วยทั้งสองกลุ่มในแหล่งโบราณคดีและแหล่งเรือจมจากหลาย ๆ พื้นที่ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ก่อนที่การผลิตและการค้าสังคโลกจะค่อย ๆ ลดปริมาณลง
จนหายไปในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒
ศูนย์กลางสำคัญในการส่งออกเครื่องสังคโลก คือ กรุงศรีอยุธยาซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคและมีอำนาจเหนืออาณาจักรสุโขทัย ส่งผลให้อาณาจักรสุโขทัยกลายเป็นฐานในการผลิตสังคโลกให้กับกรุงศรีอยุธยา โดยสังคโลกที่เป็นสินค้าส่งออกมีหลายรูปแบบ อาทิ เครื่องเคลือบสีเขียวที่เรียกว่า เซลาดอน เครื่องเคลือบสีน้ำตาล เครื่องถ้วยเขียนลายสีดำหรือสีน้ำตาลใต้เคลือบ มีแหล่งผลิตทั้งจากเมืองศรีสัชนาลัยและเมืองสุโขทัย สิ่งเหล่านี้บอกเล่าให้เราทราบว่าการผลิตสังคโลกมีการขยายตัวมากขึ้น
จากการผลิตเพื่อใช้ในท้องถิ่นมาสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อการส่งออก อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์กันของดินแดนต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(จำนวนผู้เข้าชม 4925 ครั้ง)