สังคโลก ผลิตที่ไหนบ้าง
๑. กลุ่มเตาเมืองศรีสัชนาลัย เป็นแหล่งผลิตสังคโลกที่มีพัฒนาการมาอย่างยาวนานตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงสุโขทัย เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมา กลุ่มเตานี้ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองศรีสัชนาลัยห่างออกไปทางทิศเหนือ มีแหล่งเตาผลิตสังคโลกตั้งเรียงรายไปตามริมฝั่งแม่น้ำยมด้านตะวันตกตั้งแต่บริเวณบ้านป่ายาง บ้านเกาะน้อย บ้านหนองอ้อไปจนถึงวัดดอนลาน สามารถจำแนกเตาได้เป็น ๒ กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มเตาบ้านเกาะน้อย
ตั้งอยู่ห่างจากกำแพงเมืองศรีสัชนาลัยไปทางทิศเหนือประมาณ ๕ กิโลเมตร จากการสำรวจและขุดค้นพบจำนวนไม่น้อยกว่า ๒๐๐ เตา ในระยะแรกเป็นเตาชนิดอุโมงค์หรือเตาขุด ต่อมาพัฒนาเป็นเตาก่อด้วยดินดิบผนังยาดินเหนียวและพัฒนาการขั้นสุดท้ายเป็นเตาอิฐขนาดใหญ่อยู่บนเนินดินสูงในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๒ ภายในเตาเผาพบภาชนะประเภทไม่เคลือบ ภาชนะประเภทเขียนลายสีดำใต้เคลือบ ภาชนะประเภทเคลือบสีเขียว เป็นต้น
- กลุ่มเตาบ้านป่ายาง
อยู่ห่างจากเมืองศรีสัชนาลัยไปทางทิศเหนือราว ๕๐๐ เมตร จากการสำรวจพบเตาประมาณ ๒๕ เตา ส่วนใหญ่เป็นเตาก่อด้วยอิฐอยู่บนเนินดินสูง สันนิษฐานว่ากลุ่มเตาบ้านป่ายางเริ่มผลิตสังคโลกในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒ โดยผลิตภาชนะประเภทเขียนลายสีดำหรือน้ำตาลใต้เคลือบ ภาชนะประเภทเคลือบน้ำตาลเข้ม นอกจากนี้ยังผลิตตุ๊กตาและเครื่องประดับสถาปัตยกรรมอีกด้วย
รูปภาพ : (ซ้าย) จานเคลือบสีเขียว ผลิตจากเตาบ้านเกาะน้อย เมืองศรีสัชนาลัย
ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก
(ขวา) ยักษ์ (ทวารบาล) ผลิตจากเตาบ้านป่ายาง เมืองศรีสัชนาลัย ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก
๒. กลุ่มเตาเมืองสุโขทัย เป็นแหล่งผลิตสังคโลกที่เกิดขึ้นเพื่อเสริมกำลังการผลิตของเตาเมืองศรีสัชนาลัย ในช่วงที่สังคโลกเป็นสินค้าที่ต้องการของตลาดตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นต้นมา กลุ่มเตานี้ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองสุโขทัยบริเวณด้านทิศเหนือของวัดพระพายหลวง และเรียงรายไปตามริมน้ำแม่โจน จากการสำรวจทางโบราณคดีพบเตาประมาณ ๔๗ เตา มีลักษณะเป็นเตาก่ออิฐสร้างบนเนินดินถมสูง บางแห่งมีร่องรอยการสร้างเตาเผาซ้อนทับกันหลายครั้ง นิยมผลิตภาชนะประเภทเขียนลายสีดำหรือสีน้ำตาลใต้เคลือบ ผลิตภัณฑ์ที่พบมักใช้น้ำดินสีขาวทาลงบนเนื้อดินเพื่อเป็นการรองพื้นก่อนเขียนลวดลาย
รูปภาพ : จานเขียนลายสีดำใต้เคลือบ ผลิตจากเตาเมืองสุโขทัย ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก
(จำนวนผู้เข้าชม 1939 ครั้ง)