เตาเผาสังคโลกเป็นอย่างไร
เตาที่ใช้เผาเครื่องสังคโลกที่พบจากเมืองศรีสัชนาลัยและเมืองสุโขทัยมีอยู่ด้วยกัน ๒ ชนิดคือ
"เตาประทุน" เป็นเตาที่ระบายความร้อนในแนวนอน ลักษณะเตามีรูปร่างรี พื้นเรียบแบน ก่อหลังคาโค้งบรรจบกันคล้ายประทุนเรือ จึงเป็นที่มาของชื่อ “เตาประทุน” มักวางตัวลาดเอียงจากส่วนหน้าขึ้นไปยังส่วนท้ายประมาณ ๑๐ - ๓๐ องศา ส่วนประกอบของเตาประทุนแบ่งเป็น ห้องใส่ไฟ อยู่ส่วนหน้าในระดับต่ำที่สุด ตอนหน้ามีช่องใส่ไฟเจาะเป็นช่องโค้งรูปเกือกม้า ถัดมาเป็น ห้องบรรจุภาชนะ อยู่บริเวณตอนกลางเตา เป็นส่วนที่กว้างที่สุดและลาดเทจากส่วนหน้าเตาไปยังปล่องไฟ บนพื้นมักโรยทรายหนาประมาณ ๑๐ - ๑๕ เซนติเมตร เพื่อใช้ฝังกี๋ท่อสำหรับรองรับภาชนะ และ ปล่องไฟ เป็นส่วนสุดท้ายของเตามีรูปร่างกลม
ที่มาของภาพ : กลุ่มเตาเผาสังคโลกหมายเลข ๖๑ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
ส่วน "เตาตะกรับ" เป็นเตาที่ระบายความร้อนในแนวดิ่ง ลักษณะเตามีรูปร่างกลม ส่วนประกอบของเตาตะกรับมีอยู่ ๒ ส่วนคือ ห้องบรรจุภาชนะ อยู่ตอนบนสุด มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ เมตร ใช้วางภาชนะที่จะเผาแล้วใช้เศษภาชนะดินเผาวางสุมทับด้านบนอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้ความร้อนไหลผ่านกลุ่มภาชนะได้ช้าลงและ ห้องใส่ไฟ เป็นบริเวณใส่เชื้อเพลิงเพื่อให้ความร้อนลอยขึ้นสู่ด้านบนมักมีช่องใส่เชื้อเพลิงยื่นออกมาด้านหน้าเพื่อใส่เชื้อเพลิงได้สะดวกและกันความร้อนในเตาให้ไหลสู่ด้านบนได้มากขึ้น ระหว่างห้องบรรจุภาชนะและปล่องไฟจะมีแผ่นดินเหนียวกลมหนาประมาณ ๑๕ - ๒๐ เซนติเมตร เจาะรูกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๕ - ๑๐ เซนติเมตร จำนวนมากคั่นอยู่ เรียกว่า “แผ่นตะกรับ” ทำหน้าที่ให้ความร้อนไหลผ่านจากด้านล่างสู่ห้องบรรจุภาชนะด้านบนมักวางอยู่บนค้ำยันที่ทำจากดินเหนียวอยู่เบื้องล่างภายในพื้นที่ห้องใส่ไฟ
ที่มาของภาพ : กลุ่มเตาเผาสังคโลกหมายเลข ๖๑ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
(จำนวนผู้เข้าชม 1334 ครั้ง)