...

มหามกุฎราชสันตติวงศ์ : สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

          มหามกุฎราชสันตติวงศ์ : สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

          ๒๑ มิถุนายน ๒๔๐๕ วันประสูติของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ 

          เพื่อรำลึกถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บุคคลสำคัญของโลกในฐานะ “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี จึงได้รวบรวมและเรียบเรียงบทความเรื่อง บันทึกเรื่องราวเสด็จประพาสต้น : จดหมายนายทรงอานุภาพ ร.ศ. 123 ขึ้นมา

          บันทึกเรื่องราวเสด็จประพาสต้น : จดหมายนายทรงอานุภาพ ร.ศ. 123

          จดหมายนายทรงอานุภาพ พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นบันทึกเรื่องราวการเสด็จประพาสหัวเมืองต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2447 หรือ ร.ศ. 123 ซึ่งการประพาสเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของพระองค์ เพื่อทอดพระเนตรสภาพบ้านเมือง ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรอย่างใกล้ชิด ซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงสภาพสังคม เศรษฐกิจ และประเทศชาติให้มีความก้าวหน้า ไม่ล้าหลัง ในช่วงเวลาที่ลัทธิจักรวรรดินิยมกำลังเผยแผ่ขยายอำนาจ ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงต้องพยายามดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อป้องกันการคุกคามของชาติมหาอำนาจ และยกระดับการดำเนินชีวิตของราษฎรให้ดีมากยิ่งขึ้น โดยการเสด็จประพาสหัวเมืองต่าง ๆ เป็นประจำโดยเฉพาะหัวเมืองภาคใต้และหัวเมืองประเทศราชทางใต้ เพื่อตรวจราชการ สร้างความสนิทสนมกับข้าราชการท้องถิ่น และสร้างความจงรักภักดีให้เกิดกับพระองค์  

          ตามหลักฐานและเอกสารเรียกการประพาสครั้งนี้ว่า “การเสด็จประพาสต้น”ซึ่งวัตถุประสงค์การเสด็จนอกจากเสด็จเพื่อทอดพระเนตรสภาพบ้านเมืองและราษฎร  ก็เสด็จเพื่อเป็นการพักผ่อนพระราชอิริยาบถของพระองค์เองอีกด้วย ซึ่งการเสด็จประพาสครั้งนี้มีความพิเศษ คือ พระองค์เสด็จประพาสตามหัวเมืองอย่างสามัญชน โดยไม่โปรดให้มีท้องตราแจ้งต่อหัวเมืองเพื่อให้หัวเมืองเตรียมการรับเสด็จอย่างเป็นทางการ แต่ทรงแต่งพระองค์อย่างสามัญชน ปะปนไปกับราษฎร มิให้ผู้ใดรู้จักและทราบล่วงหน้าและทรงประทับค้างแรมที่ใดก็แล้วแต่พระราชประสงค์  

          การเสด็จประพาสต้นนั้นมีประโยชน์แก่ราชการบ้านเมือง และการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรได้อย่างมาก ซึ่งพระองค์ทรงโปรดการเสด็จประพาสในลักษณะนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากการเสด็จประพาสในลักษณะนี้ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใกล้ชิด รับรู้ และเข้าใจสภาพสังคม ความทุกข์สุขในชีวิตประจำวันของราษฎรมากยิ่งกว่าการเสด็จประพาสแบบทางการแล้ว  ยังทรงสำราญพระราชอิริยาบถและมีพระพลานามัยดีขึ้นจากการเสด็จประพาสครั้งนี้ ตลอดจนได้เห็นการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการในท้องถิ่นอย่างแท้จริงอีกด้วย 

          คำว่า “ประพาสต้น” นั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า มีที่มาจากชื่อเรือที่ทรงซื้อไว้ใช้ในกระบวนเสด็จประพาส เนื่องด้วยเส้นทางการเสด็จประพาสส่วนใหญ่เป็นการเสด็จประพาสทางแม่น้ำ ลำคลองเป็นหลัก โดยในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 โปรดเกล้าฯ ให้ซื้อเรือมาดประทุน 4 แจวลำหนึ่งเพื่อบรรทุกเครื่องครัว โดยมีพระยานิพัทธราชกิจ (อ้น นรพัลลภ) ซึ่งขณะนั้นเป็นหลวงศักดิ์นายเวร เป็นผู้คุมเครื่องครัวไปในเรือนั้น จึงทรงดำรัสเรียกเรือลำนั้นว่า “เรือตาอ้น” เมื่อเรียกเร็วๆ ก็จะออกเสียงเป็น “เรือต้น” อีกทั้งคำว่า “ต้น” ยังอนุโลมใช้เรียกเครื่องแต่งพระองค์อย่างลำลองในคราวเสด็จประพาสว่า “ทรงเครื่องต้น” อีกด้วย  

          โดยเส้นทางการเสด็จประพาสต้นครั้งนั้น เริ่มเดินทางจากสะพานน้ำหน้าพระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 ผ่านหัวเมืองต่าง ๆ ตามลำดับ เช่น เมืองนนทบุรี สมุทรสาคร ราชบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับจากบางปะอินโดยรถไฟ และถึงพระบรมมหาราชวังกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2447 รวมใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 25 วัน

          ความใน “จดหมายนายทรงอานุภาพ” ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระราชหัตถเลขาถึง “พ่อประดิษฐ์” ซึ่งเรียบเรียงเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงขณะเสด็จประพาสต้นตั้งแต่เริ่มต้นจนจบตามลำดับ มีทั้งหมด 8 ฉบับ สรุปความได้ดังต่อไปนี้

          จดหมายฉบับที่ ๑ : เล่าถึงเหตุที่จะเสด็จประพาสต้น นอกจากจะเป็นหนึ่งในพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 การเสด็จประพาสครั้งนี้ก็เพื่อการพักผ่อนพระอิริยาบถและพักรักษาพระองค์

          จดหมายฉบับที่ 2 : จุดเริ่มต้นการเสด็จประพาสต้น โดยเริ่มเล่าเรื่องจากการเสด็จจากบางปะอินล่องลงมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา เสด็จประทับวัดปรไมยิกาวาศ แล้วเสด็จประพาสสวนกระท้อนแถบแม่น้ำอ้อมเมืองนนทบุรี เวลาเย็นเสด็จประทับแรมที่หน้าวัดเขมา เช้าของอีกวันเสด็จจากวัดเขมาล่องลงมาเข้าคลองบางกอกใหญ่และคลองภาษีเจริญ ระหว่างทางขึ้นบกเดินเที่ยวเล่นที่บ้านกระทุ่นแบน ตกเย็นประทับแรมหน้าวัดหนองแขม หลังจากเสด็จจากวัดหนองแขมเข้าคลองดำเนินสะดวก หยุดกระบวนประทับแรมที่หน้าวัดโชติทายการาม พรางเสด็จเรือเล็กประพาสทุ่งที่น้ำท่วมเพื่อพบปะสมาคมกับราษฎรตามท้องที่

          จดหมายฉบับที่ : ๓ เล่าเรื่องเสด็จหลังจากเสด็จจากวัดโชติทายการามไปเมืองราชบุรี ทรงรับสั่งให้เตรียมรถไฟพิเศษเพื่อเสด็จไปประพาสเมืองเพชรบุรี โดยประสงค์ว่าการประพาสเมืองเพชรบุรีครั้งนี้จะไม่มีใครทราบ เนื่องจากต้องการทอดพระเนตรบ้านเมืองในเวลาปกติ แต่ผิดคาดเมื่อมีข้าราชการบางคนทราบถึงการเสด็จครั้งนี้ หลังจากเสด็จจากเมืองเพชรบุรีก็เสด็จกลับประทับแรมที่เมืองราชบุรี ทอดพระเนตรแห่บวชนาคบุตรพระแสนท้องฟ้า 

          เนื้อหาในจดหมายฉบับนี้ได้มีการอธิบายถึงที่มาของคำว่า “ประพาสต้น” อีกด้วย การเสด็จประพาสต้นเป็นไปอย่างทุกทีที่พระองค์ทรงหยุดแวะตามที่ต่าง ๆ ระหว่างทางเพื่อเยี่ยมชมวิถีชีวิตของราษฎร ซึ่งพาหนะการเสด็จนั้นสลับสับเปลี่ยนอยู่บ้างตามวาระ จากเรือสู่รถไฟ จากรถไฟสู่เรือ โดยวัตถุประสงค์ยังคงเดิมที่ต้องการปกปิดตัวตน ซึ่งมีหลุดบ้างเนียนบ้างตามประสา

          จดหมายฉบับที่ 4 : เนื้อหาภายในจดหมายยังคงเต็มไปด้วยความสนุกของการเสด็จประพาส เนื่องด้วยความไม่เป็นทางการของการเสด็จ ทำให้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นชวนให้มีความสุข สนุกมากกว่าการเสด็จประพาสในลักษณะปกติ สำหรับเหตุการณ์ที่สำคัญในจดหมายฉบับนี้เกิดขึ้นจากคนที่ตามเสด็จต้องแบ่งหน้าที่ตามความถนัดเพื่อเตรียมการทำอาหาร ซึ่งการรวมตัวทำอาหารเลี้ยงกันพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเป็นอย่างมาก 

      สำหรับเส้นทางการเสด็จประพาสเริ่มจากเสด็จตลาดที่เมืองราชบุรี และแวะซื้อเสบียงอาหารที่ปากคลองวัดประดู่ ระหว่างทางเสด็จทอดพระเนตรละครชาตรีบ้านตาหมอสี เวลาเย็นก็หาจุดที่จะเสด็จแวะทำครัว เสด็จตามแม่น้ำลำคลอง จบวันก็เสด็จกลับมาประทับแรมเมืองสมุทรสงคราม และเสด็จทอดพระเนตรที่ว่าการเมืองสมุทรสงคราม

          จดหมายฉบับที่ 5 : เล่าเรื่องการเสด็จประพาสไปยังเมืองเพชรบุรี โดยเริ่มเสด็จประทับเรือฉลอมไปทอดพระเนตรละมุที่ปากอ่าวแม่กลองเตรียมเสบียงอาหาร เมื่อถึงปากน้ำเมืองเพชรบุรี เสด็จเรือกลไฟไปประทับแรมที่จวนเจ้าพระยาสุรพันธ์ฯ ซึ่งการเสด็จประพาสต้นเมืองเพชรบุรีการที่จะหลีกเลี่ยงหรือพบปะราษฎรอย่างสามัญชนนั้นเป็นเรื่องยาก เนื่องจากชาวเพชรบุรีกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีความผูกพันกว่าที่ไหน ๆ หลังจากได้เสด็จจากบางทะลุทางทะเลมาเข้าบ้านแหลมแล้ว พระองค์เสด็จกลับมาประทับแรมเมืองเพชรบุรี ณ พระนครคีรี และเสด็จประพาสวัดต่าง ๆ ในจังหวัดเพชรบุรี จบด้วยการเสด็จไปประทับแรมที่บ้านแหลม

          จดหมายฉบับที่ 6 : การเสด็จประพาสเป็นไปอย่างราบรื่น หลังจากเสด็จจากบ้านแหลมโดยทางทะเลถึงเมืองสมุทรสาคร จากเมืองสมุทรสาครก็เสด็จไปประทับแรมที่งิ้วราย หลังจากนั้นก็เสด็จโดยรถไฟพิเศษเพื่อเสด็จประพาส ณ พระปฐมเจดีย์ ล่องเรือเสด็จประพาสวัดพระประโทน  ออกจากพระประโทนเสด็จประทับเสวยเย็นที่บ้านพระยาเวียงไนย และเสด็จกลับมาประทับแรมที่งิ้วราย 

          จดหมายฉบับนี้ได้เล่าเรื่องการเสด็จประพาสหลาย ๆ แห่งโดยทางชลมารค ทั้งเสด็จประพาสคลองภาษี เสด็จประทับแรมบ้านสองพี่น้อง เสด็จประพาสคลองสองพี่น้อง เสด็จประทับแรมที่วัดบางบัวทอง จนถึงเมืองสุพรรณบุรี แล้วเสด็จทอดพระเนตรที่ว่าการเมือง วัดมหาธาตุ หลักเมือง วัดป่าเลไลย เวลาบ่ายเสด็จกลับมาประทับแรมที่บางปลาม้า จบด้วยการเสด็จจากบางปลาม้าเพื่อเสด็จประทับแรมที่บ้านผักไห่

          จดหมายฉบับที่ ๗ : จดหมายฉบับนี้เป็นจดหมายฉบับสุดท้ายที่เล่าเรื่องราวการเสด็จประพาสต้นครั้งนี้ โดยเริ่มเล่าเรื่องการเสด็จจากบ้านผักไห่ไปทางคลองบางโผงเผง โดยมีเหตุการณ์สำคัญ คือ เกิดความเข้าใจผิดในเส้นทางการเสด็จ เป็นเหตุให้เกิดความลำบากแก่การประพาสเป็นอย่างมาก หลังจากเหตุการณ์คลี่คลาย เสด็จคลองบางหลวงอ้ายเอียง แวะทำครัวที่บ้านนายช้างอำแดงพลับ เมื่อออกจากบ้านนายช้างอำแดงพลับเสด็จจนถึงบางปะอิน และเสด็จรถไฟพิเศษเพื่อกลับกรุงเทพฯ เป็นอันจบการเสด็จประพาสต้น

          จดหมายฉบับที่ 8 : สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้พรรณนาถึงผลในการเสด็จประพาสต้น และยังได้กล่าวถึงการเสด็จประพาสหลังจากครั้งนี้อีกว่า จะไม่ได้สุขสำราญและเป็นกันเองเหมือนเมื่อครั้งที่เสด็จประพาสต้น (เมื่อปี พ.ศ. 2447 หรือ ร.ศ. 123) อีกแล้ว โดยอธิบายเหตุผลไว้ว่า ราษฎรรู้แล้วว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดการเสด็จอย่างสามัญชน และหลังจากนี้หากมีใครแปลกหน้าเป็นผู้ดีชาวบางกอก ก็คิดและเข้าใจว่านั่นคือพระเจ้าอยู่หัว แม้แต่เรือพระที่นั่งหากเห็นว่ามีความแตกต่างจากปกติ ไม่ได้มาจากท้องถิ่นแถวนั้น ก็คิดไปก่อนว่านั่นคือพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมองว่าการเสด็จประพาสต้น การประพาสอย่างสามัญชนคนธรรมดาจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

 

 

เอกสารสำหรับการค้นคว้า

      1. ณัฐวรรณ พุ่มดียิ่ง.“การศึกษาแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพัฒนาประเทศ จากพระราชหัตถเลขาในการเสด็จประพาสหัวเมือง (พ.ศ. 2415 – 2452)”,ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์,  ( บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2550)

      2. กรมศิลปากร.  (2565).  จดหมายนายทรงอานุภาพ เล่าเรื่องประพาสต้น เมื่อ ร.ศ. 123.  กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์.

      3. วัชรญาณ. “จดหมายนายทรงอานุภาพ เล่าเรื่องประพาสต้น”, [ออนไลน์], แหล่งที่มา : https://vajirayana.org/จดหมายนายทรงอานุภาพ-เล่าเรื่องประพาสต้น 

      4. หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร. จดหมายเหตุ เรื่องเสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ 5 ครั้งแรกและครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.

ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 237 ครั้ง)


Messenger