...

วันนี้ในอดีต พระราชพิธีโสกันต์ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ และ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ามัณยาภาธร

         วันนี้ในอดีต : พระราชพิธีโสกันต์ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ และ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ามัณยาภาธร

         พระราชพิธีโสกันต์ เป็นพระราชพิธีสำคัญของประเทศไทยในอดีต เป็นพิธีหลวงที่สืบทอดแบบแผนมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่ง “พระราชพิธีโสกันต์” หรือ “พิธีโกนจุก” ถือเป็นพิธีมงคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเด็ก ผู้เป็นบิดามารดาจึงมักจะจัดพิธีให้ดีที่สุดเท่าที่ฐานะของตนจะทำได้เพื่อเป็นการเริ่มต้นชีวิตความเป็นผู้ใหญ่ที่ดีให้แก่บุตรธิดาของตน พิธีการต่าง ๆ จึงทำกันอย่างใหญ่โตสมกับฐานะของแต่ละครอบครัว

         ซึ่งพิธีโกนจุกนั้นหากเป็นพิธีโกนจุกโดยผู้นั้นเป็นพระราชโอรส พระราชธิดา ที่ประสูติแต่พระมเหสีและดำรงพระยศชั้นเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้า จะเรียกพิธีนี้ว่า “พระราชพิธีโสกันต์” นั่นเอง ส่วนพิธีโกนจุกที่ใช้กับพระโอรส พระธิดา ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดา และดำรงพระยศต่ำกว่าพระองค์เจ้าลงมา จะเรียกว่า “เกศากันต์” ซึ่งต่างกันที่การแต่งองค์ทรงเครื่อง ตลอดจนพิธีแห่บางอย่างอาจเพิ่มลดตามลำดับพระยศของเจ้านายพระองค์นั้น ๆ

         เนื่องในวันที่ ๑๓ มกราคม เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ และ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ามัณยาภาธร ณ พระนครคีรี เมื่อครั้งอดีต พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี จึงได้เรียบเรียงเหตุการณ์ในวันนั้น โดยสรุปไว้ ดังนี้

         วันนี้ในอดีต : พระราชพิธีโสกันต์ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ และ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ามัณยาภาธร

         วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๗ (วันศุกร์ เดือนยี่ แรม ๒ ค่ำ ปีชวด ฉศก จ.ศ. ๑๒๒๖) (นับแบบปัจจุบัน คือ พ.ศ. ๒๕๐๘) โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ และ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ามัณยาภาธร พระชนม์ ๑๐ ชันษา ทั้งสองพระองค์ เวลาบ่ายพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ที่พระที่นั่งราชธรรมสภา ๓๐ รูป ตั้งขบวนแห่แต่หน้าตําหนักมาตามถนนราชวิถี ขึ้นไปฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ ๓ วัน ตามเอกสารการชุมนุมพระบรมราชาธิบาย ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดำริว่า

         “. . . ในครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชาธิเบศรมหาราชปราสาททอง ได้มีการโสกันต์พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าอิน ณ ที่ประทับเกาะบ้านเลนเป็นอย่างมา ก็ครั้งนี้พระราชวังที่ประทับเป็นที่ประพาสก็มีหลายตำบล จึงโปรดให้มีการแห่โสกันต์เป็นการใหญ่อย่างครั้งก่อน ที่พระนครคีรี ณ เมืองเพ๊ชรบุรี ตามอย่างซึ่งเคยมีในโบราณนั้นอีกครั้งหนึ่งในเดือนยี่ปีชวด ฉศก ศักราช ๑๒๒๖ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๖๔ . . .”

         ต่อมาในวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๗ (วันจันทร์ เดือนยี่ แรม ๕ ค่ำ ชวดฉศก จ.ศ. ๑๒๒๖) (นับแบบปัจจุบัน คือ พ.ศ. ๒๕๐๘) เวลาเช้าโสกันต์ที่วิมานเทวราชศาสตราคมสถาน เวลาบ่ายแห่สมโภชอีก ๑ วัน กระบวนแห่และเครื่องเล่นรายทา มีทุกสิ่งเหมือนคราวโสกันต์พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ฯ ในกรุงเทพเว้นแต่ไม่มีเขาไกรลาส

         ใน “พระราชพิธีโสกันต์” ครั้งนั้นมีการละเล่นมากมาย เช่น โขน หนัง ละคร เพลง ละครสํารับเล็ก และการแต่งตัวเข้ากระบวนแห่เป็นนางสระในวันโสกันต์ เวลาค่ำทรงจุดโคมลอยประทีปและโปรดให้มีละครเรื่องอิเหนาเป็นการสมโภช มีเจ้าจอมมารดาวาด พระสนมเอกแสดงเป็นอิเหนา

         ปัจจุบัน “พระราชพิธีโสกันต์” จะเลือนหายไปตามสภาพสังคมและกาลเวลา แต่ด้วยแนวคิดของพระราชพิธีนี้ที่ต้องการใช้เป็นเครื่องเตือนใจเด็กและเยาวชนว่าเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ต้องมีความรับผิดชอบในหน้าที่การงานของตนเองและแผ่นดิน ให้ตระหนักถึงภาระหน้าที่ของแต่ละคนที่พึงมีพึงปฏิบัติตามวัยและฐานะ เมื่อตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ได้แล้วย่อมจะช่วยให้สังคมและประเทศชาติพัฒนาขึ้นได้อย่างแน่นอน

       

  

เอกสารและหลักฐานการค้นคว้า

นัยนา แย้มสาขา. (๒๕๔๙). “ภาพเก่าเล่าอดีต : การแต่งกายในพระราชพิธีโสกันต์”, บทความทางวิชาการนิตยสารศิลปากร, ปีที่ ๕๐ ฉบับที่ ๒ .

กรมศิลปากร. “พระนครคีรี”. เพชรบุรี : กรมศิลปากร.

ชุมนุมพระบรมราชาธิบาย ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคที่ ๒ หมวดราชประเพณีโบราณ. (๒๔๗๓). พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์.

(จำนวนผู้เข้าชม 269 ครั้ง)