หลักฐานจากต่างชาติ การเรียกขานนามเมือง “พริบพรี” หรือ “เพชรบุรี” ในประวัติศาสตร์ไทย
หลักฐานจากต่างชาติ : การเรียกขานนามเมือง “พริบพรี” หรือ “เพชรบุรี” ในประวัติศาสตร์ไทย
เพชรบุรี เป็นเมืองที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มีนักประวัติศาสตร์ให้ความเห็นว่า เมืองเพชรบุรีนั้น คือ “อยุธยาที่มีชีวิต” เมืองเพชรบุรีเป็นเมืองโบราณ ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งในการปกครองของขอมหรือเขมรโบราณในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 คำว่า “เพชรบุรี” เองก็มีปรากฏเป็นหลักฐานว่าเรียกมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่นกัน สันนิษฐานที่มาของชื่อมีอยู่ 2 ทางด้วยกัน ทางแรกเป็นการเรียกตามชื่อแม่น้ำเพชรบุรี ส่วนอีกทางหนึ่งเป็นการเรียกตามตำนานที่เล่าสืบกันมาว่าในสมัยโบราณเคยมีแสงระยิบระยับในเวลากลางคืนที่เขาแด่น ทำให้คนเข้าใจว่ามีเพชรพลอยบนเขานั้น
ชื่อจังหวัดหรือชื่อเมืองของไทยในสมัยโบราณหลักฐานค้นพบได้จากเอกสารต่าง ๆ ที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรทั้งศิลาจารึก พงศาวดาร จดหมายเหตุ รวมถึงเอกสารของชาวต่างชาติ ยกตัวอย่าง ในเอกสารของ De La Loubere ที่ได้บันทึกชื่อเมืองต่าง ๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งส่วนใหญ่ยังคงใช้เรียกมาจนถึงปัจจุบัน เช่น Laconcevan (นครสวรรค์), Campeng-pet (กำแพงเพชร), Tchainat (ชัยนาท) เป็นต้น
นอกจากนี้ชื่อเมืองที่ในปัจจุบันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของจังหวัดหรือไม่ใช้เรียกแล้วในปัจจุบัน ทำให้สันนิษฐานกันว่าเป็นชื่อเมืองเดิมก่อนเปลี่ยนมาเป็นชื่อในปัจจุบัน ซึ่ง “#พริบพรี (Pipeli)” เป็นเมืองหนึ่งที่สันนิษฐานว่าจะถูกเปลี่ยนชื่อ และสันนิษฐานว่าเป็นชื่อเมืองเดิมของเมืองเพชรบุรี ซึ่งเป็นชื่อเมืองที่ทางผู้จัด “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี” ต้องการศึกษานั้นเอง
“#พริบพรี” หรือที่รู้จักกัน “เพชรบุรี” คำว่า “พริบพรี” ชื่อจังหวัดหรือชื่อเมืองของเพชรบุรีในสมัยโบราณ จากการศึกษาพบว่ามีข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ที่ให้ที่มาของคำนี้ว่า คือ ชื่อเดิมของจังหวัดเพชรบุรี บางสันนิษฐานจากการเปรียบเทียบกับลักษณะเสียงของคำว่า เพชรบุรี ว่ามีบางหน่วยเสียงที่เหมือนกัน บางสันนิฐาน “เพชรบุรี” เป็นชื่อเมืองเดิมที่เป็นทางการ ส่วน “พริบพรี” เป็นชื่อเรียกกันอย่างไม่เป็นทางการในภายหลัง
หลักฐานจากต่างชาติ : การเรียกขานนามเมือง “พริบพรี” หรือ “เพชรบุรี”
จากข้อมูลที่ปรากฏเกี่ยวกับชื่อเมืองพริบพรีว่าเป็นชื่อเมืองจังหวัดเพชรบุรีในปัจจุบัน เท่าที่พบหลักฐานมีปรากฏชื่อเมืองมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรเขมรหรือขอมโบราณ โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปแต่ยังคงเค้าเสียงหรือความหมายเดียวกัน จากการสืบค้นจากหลักฐาน ซึ่งทางผู้เรียบเรียงจะยกตัวอย่างหลักฐานโดยเฉพาะหลักฐานจากชาวต่างชาติหรือหลักฐานที่มาจากชาติอื่น ๆ โดยปรากฏหลักฐานตามลักษณะช่วงเวลาดังต่อไปนี้
สมัยอาณาจักรขอมโบราณ
1. จารึกปราสาทพระขรรค์ ประเทศกัมพูชา (พ.ศ. 1734) นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าเมือง “#ศรีชัยวัชรปุรี” คือ “เพชรบุรี” ปรากฏจากการโปรดเกล้าฯ ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ให้สร้างจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ เมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา เพื่ออุทิศถวายแก่พระราชบิดาคือ พระเจ้าศรีธรณีนทรวรมันที่ 2 เกิดการขยายตัวของอาณาเขตการปกครอง อำนาจทางการเมือง และศาสนา ซึ่งการขยายตัวนั้นมาถึงเมืองเพชรบุรีด้วย ดังปรากฏชื่อในจารึกบทที่ 117 ที่แสดงให้เห็นว่าชื่อเมืองได้รับอิทธิพลจากรูปศัพท์เดิมในภาษาบาลี สันสกฤต ว่า
“. . . ศรีชัยวัชรปุรี ศรีชัยสตัมภปุรี ศรีชัยราชคีรี ศรีชัยวีรปุรี . . .”
สมัยสุโขทัย
2. เอกสารจีนในราชวงศ์หงวน (พ.ศ. 1837) ในหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดเพชรบุรีของกรมศิลปากร กล่าวถึงเมืองเพชรบุรีที่ปรากฏในเอกสารจีนว่า
“. . . กันมู่ติง (กมรเตง) ส่งทูตจากเมือง #ปี้ชาปู้หลี่ (เพชรบุรี) มาถวายเครื่องราชบรรณาการ . . .”
คำว่า “ปี้ชาปู้หลี่” ในเอกสารจีนมีเสียงใกล้เคียงกับคำว่า “เพชรบุรี” สันนิษฐานว่าจะเป็นสำเนียงของชาวจีนที่ได้บันทึกชื่อเมืองตามการออกเสียงของคนไทยในท้องถิ่น และยังเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าในสมัยสุโขทัยออกเสียงชื่อเมืองนี้เป็น 4 พยางค์ คือ เพ็ด – ชะ – บุ – รี
สมัยกรุงศรีอยุธยา
3. The Suma oriental of Tome Pires ของ Tome Pires (ค.ศ. 1511 / พ.ศ. 2054) โดย Tome Pires ชาวโปรตุเกส ได้ทำบันทึกเกี่ยวกับเมืองที่มีบทบาททางการค้าระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตก โดยกล่าวถึงเมืองเพชรบุรีว่าเป็นเมืองท่าที่สำคัญเมืองหนึ่งในเขตฝั่งตะวันออก โดยการออกเสียงชื่อเมืองที่ Tome Pires ได้บันทึกไว้ออกเสียงว่า “#Peperim” และ “#Peport” ซึ่งใกล้เคียงกับการออกเสียงว่า เพ็ด - บุ – รี หรือ เพ็ด – พุ – รี
4. Description of the Kingdom of Siam ของ Jeremias Van Vliet (ค.ศ. 1633 – 1642 / พ.ศ. 2176 – 2185) Jeremias Van Vliet พ่อค้าชาวฮอลันดา ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศสยาม โดยหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงเมืองเพชรบุรีว่า
“. . . แม่กลอง (Meclongh) #พิบพรี (Pypry) ราพพรี (Rappry) ราชบุรี (Ratsjebeury) และกุย (Cuy) ล้วนเป็นเมืองเปิดทั้งสิ้น ตั้งอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำ ไม่ห่างจากทะเล . . .”
5. Journal du Voyage de Siam Fait en 1685 & 1685 ของ De Choisy (ค.ศ. 1685 – 1686 / พ.ศ. 2228 – 2229) De Choisy คณะราชทูตที่อัญเชิญพระสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝั่งเศส มาถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และได้เขียนหนังสือบันทึกการเดินทางครั้งนี้ชื่อ “Journal du Voyage de Siam” แปลเป็นภาษาไทยว่า “จดหมายเหตุรายวัน การเดินทางไปสู่ประเทศสยามในปี ค.ศ. 1685 และ ค.ศ. 1686” โดยได้กล่าวถึงเมืองเพชรบุรีไว้ว่า
“. . . ครู่ต่อมา #เจ้าเมืองพริบพลี (Pipeli – เพชรบุรี) ก็ปรากฏตัวมาพร้อมด้วยเรือตามขบวนอีกเป็นอันมาก เราเห็นแต่เรือบัลลังก์เต็มไปทั้งแม้น้ำ เรียงรายกันเป็นสองแถวยาวเหยียด . . .”
6. Histoire Naturelle et Politique du Royaume de Siam ของ Nicolas Geraise (ค.ศ. 1688 / พ.ศ. 2231) Nicolas Geraise ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และได้เขียนหนังสือเรื่อง “Histoire Naturelle et Politique du Royaume de Siam” แปลไทยก็คือ “ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช)” ได้กล่าวถึงเพชรบุรีไว้ว่าด้วยเมืองบางกอกและเมืองท่าอื่น ๆ ความว่า
“. . . #เมืองพิบพลี (Piply : เพชรบุรี) ซึ่งอยู่กันเมืองละฟากอ่าว อยู่ไกลจากปากน้ำเพียง 10 หรือ 12 ลี้ เท่านั้น เป็นเมืองเก่ามาก กล่าวกันว่าเคยเป็นเมืองที่งดงาม และมีพระเจ้าแผ่นดินหลายองค์ทรงโปรดประทับแปรพระราชฐานยิ่งกว่าที่เมืองอื่น ๆ . . .”
7. Description Du Royaume de Siam ของ De La Loudere (ค.ศ. 1688 / พ.ศ. 2231) De La Loudere ราชทูตชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และได้เขียนจดหมายเหตุตอนหนึ่งกล่าวถึงปฐมกษัตริย์ของชาวสยาม และมีกษัตริย์ครองราชย์สืบต่อมาจนกระทั่งถึงกษัตริย์พระองค์ที่ 12 ได้เสด็จไปสร้างเมืองเพชรบุรี โดยตำนานการสร้างเมืองเพชรบุรีปรากฏในจดหมายเหตุดังต่อไปนี้
“. . . ในปี พ.ศ. 1731 พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 12 สืบต่อจากพระองค์นี้ซึ่งพระนามว่า พระพนมไชยศิริ . . . แต่พระมหากษัตริย์พระองค์นี้มิได้ประทับอยู่ ณ เมืองนครไทยตลอดมา หากได้เสด็จไปสร้างและประทับอยู่ ณ #เมืองพิบพลี (Pipeli) บนฝั่งแม่น้ำสายหนึ่ง ซึ่งปากน้ำนั้นอยู่ห่างราว 2 ลี้ ข้างทิศตะวันตก . . .”
8. The history of Japan, together with a description of the kingdom of Siam, 1690 – 92 ของ Engelbert Kaempfer (ค.ศ. 1960 / พ.ศ. 2233) Engelbert Kaempfer นายแพทย์ชาวเยอรมันประจำคณะทูตของบริษัทอีสต์อินเดียของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2233 และได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นและประเทศสยาม หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงเมืองเพชรบุรี ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า
“. . . ต่อจากนี้ก็ถึงชะอำ (Czam) ถัดขึ้นไปก็คือ #เพชรบุรี (Putprib) แล้วก็ถึงยี่สาน (Isan) ต่อจากนั้นไปเป็นแม่กลอง (Mayaklon) แล้วก็ถึงท่าจีน (Satzyn) แล้วจึงไปถึงปากแม่น้ำซึ่งภาษาไทยเรียกว่า ปากน้ำเจ้าพระยา (Pagnam Taufia) . . .”
สมัยธนบุรี
9. Histoire du Royaume de Siam ของ Francois Henri Turpin (ค.ศ. 1771 / พ.ศ. 2314) Francois Henri Turpin ชาวฝรั่งเศสผู้รวบรวมข้อมูลจากประมุขมิสซังกรุงสยามและมิชชันนารีที่เคยเข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนาในประเทศสยาม แล้วเขียนเป็นหนังสือ โดยในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงเมืองเพชรบุรีไว้ว่า
“. . . #เพชรบุรี (Pipli) เป็นท่าเรือติดทะเล ค้าข้าว ผ้าและฝ้ายมาก บ้านทุกหลังมีสวน จึงเก็บพลู มะพร้าว ทุเรียน กล้วย ส้มเขียนหวาน และผลไม้ดีอื่น ๆ ได้มาก . . .”
สมัยรัตนโกสินทร์
10. Narrative of a Residence at the Capital of the Kingdom of Siam ของ Frederick Arthur Neale (ค.ศ. 1840 – 1841 / พ.ศ. 2383 – 2384) Frederick Arthur Neale นักเผชิญโชคชาวอังกฤษที่เข้ามาทำงานในประเทศสยาม สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวช่วงปี พ.ศ. 2383 – 2384 ได้เขียนหนังสือ ซึ่งภายในเล่มมีภาพวาดแผนที่ประเทศสยามระบุชื่อเมืองเพชรบุรีว่า Puchpuri และในตำแหน่งใกล้เคียงกันปรากฏอีกชื่อหนึ่งว่า Pri – pri
11. Description du Royaume Thai ou Siam ของ Jean – Baptiste Pallegoix (ค.ศ. 1854 / พ.ศ. 2397) Jean – Baptiste Pallegoix ชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในประเทศสยามนานถึง 24 ปี และได้เขียนหนังสือขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงชื่อเมืองต่าง ๆ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รวมถึงชื่อเมือง #เพชรบุรี
12. The Kingdom of the Yellow Robe ของ Ernest Young (พ.ศ. 2435) Ernest Young นักเขียนชาวอังกฤษที่เข้ามาในประเทศสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้แต่งหนังสือที่กล่าวถึงชื่อเมืองเพชรบุรีไว้ในบทที่ 9 เรื่อ Outside the Capital : Petchabooree ความว่า
“. . . #เพชรบุรี (Petchabooree) เป็นหมู่บ้านเกษตรกรรมต้นแบบของสยาม สามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ ได้อย่างสบาย ๆ ด้วยเรือบ้าน ซึ่งใช้เวลาราวสองถึงสามวัน . . .”
“พริบพรี” หรือ “เพชรบุรี” จากที่ปรากฏในหลักฐานของต่างชาติ การใช้คำเรียกชื่อเมืองนั้นมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างคำและลักษณะเสียงมาเป็นลำดับ เมื่อพิจารณาจากคำว่า “วัชรปุรี” ในชื่อเมือง “ศรีชัยวัชรปุรี” ที่ปรากฏในสมัยอาณาจักรขอมโบราณ และคำว่า “เพชรบุรี” ในสมัยสุโขทัยพบว่า ทั้งสองคำนี้มีโครงสร้างคำและความหมายเหมือนกัน ความหมายคือ เมืองเพชร เมืองสายฟ้า ต่อมาคำว่า “ศรีชัย” ซึ่งถูกตัดออกในสมัยสุโขทัย เพื่อการเรียกชื่อเมืองได้ง่ายขึ้น
คำว่า “เพชรบุรี” และ “วัชรปุรี” ยังแสดงให้เห็นถึงรูปคำที่แผลงเปลี่ยนไป จากอักษร ว เป็น พ และ ป เป็น บ ในส่วนของ ว เป็น พ สามารถอธิบายการแผลงเปลี่ยนในเชิงความหมายได้ เนื่องจากเป็นคำที่แปลได้ว่า “เพชร” เหมือนกันนั้นเอง นอกจากนั้นในเชิงภาษา การที่สังคมไทยมีการรับคำยืมจากชาติอื่น ๆ เช่น การนำภาษาบาลีสันสกฤตเข้ามาใช้ในภาษาไทย ซึ่งการรับคำยืมเหล่านี้ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงรูปและเสียงตามกฎเกณฑ์ของภาษาไทย
นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าคำว่า “พริบพรี” ในเอกสารของชาวตะวันตก เช่น Pypry Pipili Piply Pipeli Putprib เป็นต้น ความหลากหลายในการเรียกชื่อเมืองเพชรบุรีว่า “พริบพรี” คุณธวัชชัย ตั้งศิริวานิช ได้อธิบายไว้ว่า การเขียนชื่อที่แตกต่างกันนี้ขึ้นอยู่กับการรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา และความสามารถในการถ่ายทอดเสียงของชาวพื้นเมือง ตลอดจนภาษาของแต่ละชาติที่เขียน ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าชื่อเมืองเพชรบุรีที่ปรากฏในเอกสารของชาวต่างชาติได้มาจากการบันทึกตามเสียงพูดของชาวพื้นถิ่นเพชรบุรีในสมัยนั้น
.
เมื่อพิจารณาในเชิงความหมายพบว่า “#พริบพรี” เป็นชื่อที่ไม่มีความหมาย ต่างกับชื่อชุมชนในท้องถื่นของไทยแต่โบราณโดยทั่วไปที่มักตั้งตามสภาพแวดล้อมหรือลักษณะอันโดเด่นของพื้นที่นั้น ดังนั้นด้วยเหตุผลเรื่องช่วงเวลาการปรากฏของชื่อเมือง ความหมายของชื่อเมือง การบันทึกชื่อเมืองเป็นลายลักษณ์อักษร ตำนานการตั้งชื่อเมือง รวมถึงโครงสร้างคำและลักษณะการออกเสียง จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า “เพชรบุรี” เป็นชื่อเมืองเดิมที่เป็นทางการ ส่วน “พริบพรี” เป็นชื่อที่เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการในภายหลัง
เอกสารสำหรับการสืบค้น
วรารัชต์ มหามนตรี. (2560). “ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับชื่อเมือง พริบพรี (เพชรบุรี) จากการศึกษาเชิงประวัติและสัทศาสตร์”. อักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. ปีที่ 39 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม – ธันวาคม 2560).
สรัญพัทธ์ เอี๊ยวเจริญ และ จีระ ประทีป. (2565). “แนวทางการพัฒนาเมืองเพชรบุรีตามแนวคิดภาคประชาสังคมและภูมิรัฐประศาสนศาสตร์ของเมืองเพชรบุรี”. รัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต. ปีที่ 2565 เล่มที่ 12 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม – สิงหาคม 2565).
ชุลีพร วิรุณหะ, พวงทิพย์ เกียรติสหกุล,วรพร ภู่พงศ์พันธุ์, วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ และ เพชรดา ชุ่นอ่อน. (2561). “ประตูศุ่อุษาคเนย์ : มุมมองใหม่ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์เมืองเพชรบุรี”. วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 40 ฉบับที่ 1 (มกราคม – มิถุนายน 2561).
.
(จำนวนผู้เข้าชม 37561 ครั้ง)