...

26 เมษายน รำลึก “สุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์”

          26 เมษายน รำลึก “สุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” 

      ครบรอบ เนื่องในเป็นวันคล้ายวันเกิดของกวีสำคัญแห่งรัตนโกสินทร์ #สุนทรภู่ วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 หรือ วันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148

           เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของประเทศไทยที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อรำลึกถึง "สุนทรภู่" กวีเอกด้านวรรณกรรมไทย ผู้สร้างสรรคผลงานอันทรงคุณค่าตลอดชีวิตใน 4 รัชกาล จนได้รับการยกย่องว่าเป็น "กวีสี่แผ่นดิน" และยังได้รับการยกย่องจากยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็น “บุคคลสำคัญด้านวรรณกรรมของโลก” อีกด้วย

 

          บทความ เรื่อง “นิราศเมืองเพชร” ท่วงทำนองแห่งอาหาร พืชพันธุ์ สัตว์และวิถีชีวิตจากธรรมชาติ ผ่านบทประพันธ์ยอดกวีผู้เลื่องชื่อ “สุนทรภู่”

          “. . . โอ้รอนรอนอ่อนแสงพระสุริย์ฉาย ท้องฟ้าคล้ำน้ำค้างลงพร่างพราย พระพายชายชื่นเชยรำเพยพาน อนาถหนาวคราวอาสาเสร็จ ไปเมืองเพชรบุรินที่ถิ่นสถาน . . .” บทประพันธ์ท่อนหนึ่งใน “#นิราศเมืองเพชร” นิราศเรื่องสุดท้ายสุดคลาสสิคของยอดกวีในประวัติศาสตร์ไทยและถูกยกย่องว่าเป็น “เชกสเปียร์” แห่งประเทศไทย นามนั้นคือ “สุนทรภู่” 

 

          “นิราศเมืองเพชร” เป็นนิราศที่แต่งขณะเดินทางไปเพชรบุรี ซึ่งสะท้อนอารมณ์ของสุนทรภู่ที่รำลึกถึงถิ่นฐานบ้านเดิมที่เคยอาศัยอยู่เรื่องราวการเดินทางครั้งนี้ก็สะท้อนความทรงจำที่สุนทรภู่ที่มีต่อเมืองเพชรบุรีได้อย่างงดงาม อีกทั้งเรื่องราวและเหตุการณ์ที่ประสบพบเจอแสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของผู้คนในเพชรบุรี ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งที่ปรากฏในบทนิราศเมืองเพชร นั้นคือเรื่อง อาหาร พืชพันธุ์ สัตว์และวิถีชีวิตจากธรรมชาติ  

          ด้วยลักษณะการจดบันทึกรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตหรือความงดงามตามธรรมชาติ เมื่อถูกบรรจงลงในบทนิราศที่ประพันธ์โดย “สุนทรภู่” ที่จดบันทึกเรื่องเล่าอย่างออกรส โดยรังสรรค์คำกลอนอันเป็นแบบฉบับที่สื่อจินตนาการ อารมณ์และประสบการณ์ที่ทรงพลัง กับการสร้างสรรค์ภาษาวรรณศิลป์ในแง่การเลือกสรรถ้อยคำ ทั้งตัดคำ เพิ่มคำ ดัดแปลงเสียงของคำ ประดิษฐ์คำศัพท์ ถ่ายทอดจินตนาการของกวี อารมณ์และประสบการณ์ที่น่าประทับใจ  

           ซึ่งชัดเจนว่า อาหาร พืชพันธุ์ สัตว์และวิถีชีวิตจากธรรมชาติ ปรากฏในบทนิราศเมืองเพชรข้างค่อนมาก โดยวิธีการถ่ายทอดรายละเอียดความประทับใจนี้เกิดจากความช่างสังเกตของสุนทรภู่ขณะเดินทางและอาศัยความทรงจำที่รำลึกนึกถึงถิ่นเดิมที่เคยอาศัยจังหวัดเพชรบุรี นั้นเอง โดยนิราศเมืองเพชร ได้เรื่องกล่าวถึงประเด็นเรื่อง “อาหาร พืชพันธุ์ สัตว์และวิถีชีวิตจากธรรมชาติ” ที่พบในระหว่างการเดินทาง ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็นได้ดังนี้

          #ธรรมชาติ โดยภายในบทนิราศ การจำแนกจะแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังต่อไปนี้ ประเภทสัตว์ ได้แก่ หมู ไก่ ปลา (ปลากระเบน, ปลากระบอก, ปลาทู เป็นต้น) ปู หอย และแมงดา ต่อมาเป็นประเภทพืชพันธุ์ ผักและผลไม้ ได้แก่ ลำเจียก เตยหอม ตะบูน ถั่ว ขี้พร้า ฟักแฟง ฟักทอง มะม่วง มะพร้าว หมาก ต้นจอก ทับทิม ส้ม และต้นตาล เป็นต้น และสุดท้ายความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตและธรรมชาติ ได้แก่ นาข้าว นาเกลือ ป่าโกงกาง ไร่และสวน

          โดยได้กล่าวถึงธรรมชาติที่เกี่ยวกับสัตว์ ไว้ว่า “. . . ถึงคลองที่อีรำท่าแร้งเรียก สุดสำเหนียกที่จะถามความปฐม เขาทำน้ำทำนาปลาอุดม เป็นนิยมเขตบ้านพวกพรานปลา ที่ปากคลองกองพื้นไว้ดื่นดาษ ดูเกลื่อนกลาดเรียงรายทั้งซ้ายขวา . . . ขายสำเร็จเป็ดไก่ทั้งไข่พอก กระเบนกระบอกปลาทูทั้งปูหอย ลูกค้ารับนับกันเป็นพันร้อย . . .” (นิราศเมืองเพชร, 2504, หน้า 6 ) ซึ่งเเสดงให้เห็นถึงลักษณะการดำรงชีพเเละวิถีการทำอาชีพของผู้คนในสมัยนั้น

          นอกจากนี้สุนทรภู่ก็ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่น่าสนใจ การถ่ายทอดรายละเอียดพฤติกรรมของสัตว์ต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเห็นปูก็บรรยายพฤติกรรมที่น่าเห็นใจของปูเพศผัว ที่ถูกปูเพศเมียคาบเนื้อกินเสีย หรือเมื่อเห็นลิงอยู่ตามตลิ่งป่าโกงกางก็บรรยายพฤติกรรมของลิงที่เที่ยวหาปูได้อย่างเห็นภาพ “. . . ครั้นล้วงขุดสุดอย่างเอาหางยอน มันหนีบนอนร้องเกลือกเสือกหัวหู เพื่อนเข้าคร่าหน้าหลังออกพรั่งพรู ลากเอาปูออกมาได้ไอ้กะโต . . .” (นิราศเมืองเพชร, 2504, หน้า 11) ไม่เพียงเท่านั้นทั้งหอยแครง แมงดา ลิงทโมนเหล่านั้นก็ฉีกกระดองกินไข่ได้ด้วย ครั้นสุนทรภู่เห็นหมู่แมงดาก็เห็นใจแมงดาตัวเมียยิ่งนัก เพราะแมงดาตัวเมียนั้นให้แมงดาตัวผู้ขี่หลัง ยิ่งเมื่อมีคนจับแมงดาเอาไปก็น่าสมเพชเวทนา เพราะคนจับเอาไปแต่แมงดาตัวเมีย แมงดาตัวผู้เมื่อไม่มีแมงดาตัวเมียก็ไม่อาจมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เหมือนตาบอดไม่รู้แจ้งหนทาง “ต้องอดอยากจากเมียเสียน้ำใจ ก็บรรลัยแลกลาดดาษดา” (นิราศเมืองเพชร, 2504, หน้า 12) 

          และ “. . . เป็นถิ่นฐานบ้านนาป่ารำไร เขาทำไร่ถั่วผักปลูกฟักแฟง แต่ฟักทองร้องเรียกว่าน้ำเต้า ฟักเขียวเล่าเรียกว่าขี้พร้าแถลง . . . ทั่วประเทศเขตแคว้นแดนพริบพรี เหมือนจะชี้ไปไม่พ้นแต่ต้นตาล ที่พวกทำน้ำโตนดประโยชน์ทรัพย์ มีดสำหรับเหน็บข้างอย่างทหาร พะองยาวก้าวตีนปีนทะบาน กระบอกตาลแขวนกันคนละพวง . . .” (นิราศเมืองเพชร, 2504, หน้า 14 และ 19) ตัวอย่างที่แสดงความหลากหลายในพืชผักและผลไม้ของเมืองเพชรบุรีในบทนิราศเมืองเพชร 

          อาหาร ได้แก่ แกง น้ำพริก ปลาย่าง ปลาเค็ม ตำข้าวเม่า และน้ำตาลโตนด ดังบทนิราศที่ได้กล่าวไว้ว่า “. . . ถึงแม่กลองสองฝั่งเขาตั้งบ้าน น่าสำราญเรือนเรือดูเหลือหลาย บ้างย่างปลาค่าเคียงเรียงเรียงราย . . . บ้างหุงต้มงมงายทั้งชายหญิง บ้างแกงบื้งปากเรียกกันเพรียกฉาว เสียงแต่ตำน้ำพริกอยู่กริกกราว เหมือนเสียงส้าวเกราะโกร่งที่โรงงาน . . .” (นิราศเมืองเพชร, 2504, หน้า 5)

          ต้นไม้และดอกไม้ ได้แก่ ลำพู จำปา สารภี อินทนิล ลั่นทม นางแย้ม ต้นบอน ต้นไทร ต้นโพธิ์ ในนิราศเมืองเพชร ได้กล่าวถึงว่า “. . . พฤกษาออกดอกช่ออรชร หอมขจรจำปาสารภี ต้นโพไทรไม้งอกตามซอกหิน อินทนิลนางแย้มสอดแซมศรี เหล่าลั่นทมร่มรอบขอบคิรี สุมาลีหล่นกลาดดูดาษดิน . . .” (นิราศเมืองเพชร, 2504, หน้า 13)

           ซึ่งเนื้อหาในบทนิราศเมืองเพชรที่ได้กล่าวถึง วัตถุดิบต่าง ๆ ทั้งพืชและสัตว์ อาหาร และต้นไม้ดอกไม้นั้น เมื่อพิจารณาตามเรื่องราวการบันทึกของสุนทรภู่ในบทนิราศเมืองเพชร ก็สะท้อนให้เห็นว่าเมืองเพชรบุรีในอดีตนั้น มีธรรมชาติที่มีความงดงามและอุดมสมบูรณ์ ซึ่งลักษณะการดำเนินชีวิตและความงดงามตามธรรมชาติในอดีตก็ยังคงมียุคให้เห็นในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น นาเกลือ การประมง และที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองเพชรบุรีที่ไม่พูดไม่ได้ นั้นก็คือ น้ำตาลโตนด ของดีของขึ้นชื่อประจำจังหวัดเพชรบุรีนั้นเอง

 

 

เอกสารสำหรับการสืบค้น

      กรมศิลปากร. เรื่อง นิราศเมืองเพชร ของ สุนทรภู่, เอกสารเพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดพลับพลาชัย จังหวัดเพชรบุรี (10 ธันวาคม 2504) 

      นิพัทธ์  แย้มเดช และ สมบัติ  มั่งมีสุขศิริ.  (2563).  “อิสระแห่งกวี” ในนิราศภูเขาทอง และนิราศเมืองเพชร ของสุนทรภู่. วารสารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. ปีที่ 17 ฉบับที่ 3 ประจำเดือนกันยายน-ธันวาคม 2563. 

 

(จำนวนผู้เข้าชม 489 ครั้ง)


Messenger