วันกำเนิด ราชกิจจานุเบกษา
วันกำเนิด ราชกิจจานุเบกษา
เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะเมีย นพศก จุลศักราช ๑๒๑๙ ตรงกับวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๐๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้ออกหนังสือฉบับหนึ่ง ใช้ชื่อว่า “ราชกิจจานุเบกษา” อันมีความหมายว่า “ที่เพ่งดูราชกิจ” สำหรับพิมพ์ประกาศ ข่าวสารต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวสารและประกาศของทางราชการ ซึ่งพระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการออกมาในเรื่องต่าง ๆ ทุกด้าน ทั้งด้านการปกครอง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม เป็นต้น
ประกาศ พระราชบัญญัติ หรือกฎหมายต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นสภาพวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในรัชสมัยของพระองค์อย่างเห็นได้ชัด เพราะประกาศเหล่านั้นมีลักษณะเป็นข้อความที่เข้าใจง่าย แสดงถึงความอาทรห่วงใย หรือเป็นโอวาทแนะนำสั่งสอนประชาชนในเรื่องต่าง ๆ เช่น ประกาศตักเตือนไม่ให้ทิ้งซากสัตว์และสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำคลอง ประกาศแนะนำการก่อเตาไฟในครัวแบบใหม่ เพื่อไม่ให้เชื้อเพลิงลุกลามจนเกิดไฟไหม้ ประกาศแนะนำให้ปลูกฝีเพื่อป้องกันไข้ทรพิษ ประกาศคุ้มครองไม่ให้นายเงินกดขี่ข่มเหงไพร่ ทาส หรือพยายามหน่วงเหนี่ยวมิให้ทาสไถ่ถอนตนเป็นอิสระ ประกาศแนะนำให้ราษฎรระวังรักษาบ้านเรือน หรือพระราชบัญญัติลดเงินนาคู่โค และอื่น ๆ อีกมากมาย
ในครั้งนั้น หนังสือ “ราชกิจจานุเบกษา” ออกมาได้เพียงปีเศษ ก็ต้องหยุดชะงักไปด้วยพระราชกิจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีมากขึ้น และได้รับการดำเนินการต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๑๗ กระทั่งถึงปัจจุบัน นับเป็นหนังสือราชการที่มีอายุมากที่สุดของประเทศไทย และเป็นหลักฐานสำคัญอันแสดงให้เห็นระเบียบวิธีการปกครองบ้านเมือง ที่มีการพัฒนาเมื่อกว่าศตวรรษที่แล้ว
ซึ่งหนังสือ "ราชกิจจานุเบกษา" นับเป็นหนึ่งในหลายๆสิ่งที่ เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(จำนวนผู้เข้าชม 393 ครั้ง)