...

รถไฟจำลอง

       รถไฟจำลอง

       สมัยรัตนโกสินทร์ ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔

       สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

       ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ ห้องรัตนโกสินทร์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

       รถไฟจำลอง เป็นรถไฟขนาดเล็กซึ่งย่อส่วนมาจากรถไฟไอน้ำของจริง ประกอบด้วยส่วนหัวรถจักรไอน้ำประเภทมีปล่องควัน ประดับอักษรโรมันคำว่า VICTORIA ถัดมาคือรถพ่วงบรรทุกถ่านหิน มีตู้โดยสารชั้นหนึ่งที่ประตูห้องโดยสารเขียนว่า First Class 102  ตู้โดยสารชั้นสามที่ประตูห้องโดยสารเขียนคำว่า THIRD CLASS 1000 และรถพ่วงคันสุดท้ายสันนิษฐานว่าเป็นตู้บรรทุกของ

       รถไฟจำลองชิ้นนี้เป็นหนึ่งในเครื่องบรรณาการที่ เซอร์ แฮรี่ สมิท ปาร์ค (Sir Harry Smith Parkes) หรือในพงศาวดารไทยออกนามว่า “ฮาริปาก” ราชทูตอังกฤษ เป็นผู้นำมาน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ดังความในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี กล่าวว่า

       “...ครั้น ณ วันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ* มิศเตอฮาริปากกับขุนนางอังกฤษ 17 นาย เข้าเฝ้าออกใหญ่ถวายพระราชสาสน์ ณ พระที่นั่งดุสิดามหาปราสาท ถวายเครื่องมงคลราชบรรณาการอย่างรถไฟ 1 อย่างกำปั่นไฟ 1 กระจกฉากรูปกวินวิกตอเรียเมื่อได้รับราชาภิเษก 1 เมื่อมีพระราชบุตรทั้งแปด 1 (รวม) 2 ฉาก กับเครื่องเขียนสำรับ 1 เครื่องคิดเลขสำรับ 1 เครื่องโต๊ะกาไหล่เงินสำรับ 1 แลของต่าง ๆ เป็นอันมาก เจ้าพนักงานในตำแหน่งทั้งปวงมารับไปต่อมือฮาริปาก...”

      ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงโปรดให้นำรถไฟจำลองชิ้นนี้จัดแสดงอยู่ในหอมิวเซียม (ศาลาสหทัยสมาคม ในปัจจุบัน) ในพระบรมมหาราชวัง กระทั่ง พ.ศ. ๒๔๓๐ จึงโปรดให้ย้ายมาเก็บรักษาไว้ที่หอมิวเซียม พระราชวังบวรสถานมงคล เรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ เมื่อโปรดให้ตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ระยะแรกรถไฟจำลองชิ้นนี้จัดแสดงอยู่ ณ พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข หมู่พระวิมาน 

       ครั้นในวาระครบรอบการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี กรมศิลปากรได้ย้ายรถไฟจำลองชิ้นนี้มาจัดแสดง ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ภายใต้ชื่อ “นิทรรศการประวัติศาสตร์ชาติไทย” นิทรรศการชุดนี้จัดแสดงอยู่ถึง พ.ศ. ๒๕๕๘ การจัดแสดงภายในพระที่นั่งศิวโมกขพิมานได้เปลี่ยนเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน ส่วนรถไฟจำลองได้ย้ายมาจัดแสดงอยู่ที่ห้องรัตนโกสินทร์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ 

       ความสำคัญของรถไฟจำลองชิ้นนี้ นอกจากเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับอังกฤษ นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ยังเป็นตัวอย่างรถไฟชิ้นแรกที่เข้ามาในไทย ซึ่งเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับคนไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๔ ดังเช่นการพรรณนาเกี่ยวกับรถไฟ ของ หม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร) ในเรื่อง นิราศลอนดอน เป็นต้น

. *ตรงกับวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๙๘

 

 อ้างอิง

กรมศิลปากร. นำชมห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์ชาติไทย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๔๕.

ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร รัชกาลที่ ๔. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๘.

ราชบัณฑิตยสภา. อธิบายว่าด้วยหอพระสมุดวชิรญาณ แลพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๖๙.

ราโชทัย, หม่อม [ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร]์. นิราศลอนดอน. กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๐๔.

(จำนวนผู้เข้าชม 626 ครั้ง)


Messenger