...

พระวิษณุสี่กร

      พระวิษณุสี่กร

      สมัยศรีวิชัย พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔

      พบที่เขาพระเหนอ อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา

       ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ห้องศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

      พระวิษณุสี่กร ทรงยืนตรง (สมภังค์) พระเศียรทรงหมวกทรงกระบอก (กิรีฏมกุฎ)* พระวรกายท่อนบนไม่แสดงการสวมเสื้อ พระอุระผึ่งผาย พระพาหาแสดงลักษณะกล้ามเนื้อชัดเจน พระหัตถ์ชำรุดหักหายไปทั้งหมด ทรงพระภูษาผ้ายาว คาดด้วยรัดพระองค์ ชายพระภูษาทบกันไปมาตกลงจรดระหว่างพระบาท ฐานสี่เหลี่ยมมีขนาดใหญ่ ช่องว่างระหว่างส้นพระบาทมีร่องรอยจารึกอักษรไทย ภาษาไทย ปัจจุบันลบเลือนไม่สามารถอ่านแปลความได้

      ความโดดเด่นของพระวิษณุสี่กรองค์นี้ คือความสามารถในฝีมือของช่างสลักประติมากรรม ที่สามารถแสดงลักษณะของกล้ามเนื้อ ลำตัวและแขนให้ใกล้เคียงกับหลักกายวิภาคของมนุษย์ และกล้าสลักเป็นรูปลอยตัว พระกรทั้งสี่นั้นไม่ได้สลักติดกับพระวรกาย  แต่ยังคงมีชายผ้าและกระบองในพระหัตถ์ซ้ายล่างช่วยยึดติดกับส่วนฐานเหมือนกับประติมากรรมพระวิษณุสี่กรรูปอื่น  ศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้เคยเสนอว่า “อาจจะเป็นประติมากรรมที่แลดูมีอำนาจและน่าเกรงขามที่สุดในบรรดาประติมากรรมที่พบในประเทศไทย”

      กิรีฏมกุฎที่เป็นหมวกทรงกระบอกเรียบ และการนุ่งผ้ายาว ขอบผ้าที่ระหว่างพระชงฆ์ (แข้ง) โค้งขึ้นไปคล้ายกับการถูกรั้งที่ชายพกคล้ายวิธีการนุ่งโจงกระเบนยาวแบบอินเดียใต้ สะท้อนถึงการรับอิทธิพลวัฒนธรรมการแต่งกายของศิลปะอินเดียแบบปัลลวะที่แพร่กระจายเข้ามาในพื้นที่คาบสมุทรมลายู (รวมถึงพื้นที่ของเขมร) ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ ซึ่งบริเวณเขาพระเหนอแหล่งที่พบพระวิษณุสี่กรนั้น ยังเป็นพื้นที่ที่พบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ เช่น ร่องรอยของศาสนสถาน (สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์)  เศษภาชนะเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถังถึงราชวงศ์ซ้อง ลูกปัด เครื่องแก้วแบบอาหรับ โบราณวัตถุเหล่านี้แสดงถึงการติดต่อกับบ้านเมืองในภูมิภาคอื่น หรือเมืองท่าที่ห่างไกล สะท้อนให้เห็นว่าบริเวณนี้เป็นเสมือนชุมทางสินค้าในอดีต และสามารถเดินทางตัดข้ามคาบสมุทรไปยังชุมชนบริเวณพื้นที่แหลมโพธิ์ ในเขตอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

      พระวิษณุสี่กรองค์นี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) เคยเสด็จทอดพระเนตร เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒) ระหว่างที่พระองค์เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ดังความในจดหมายเหตุตอนหนึ่งกล่าวว่า 

      “...เสด็จขึ้นไปทอดพระเนตรพระนารายณ์เทวรูปบนยอดเขาพระเหนอ เทวรูปองค์นี้ทำด้วยศิลาหินทราย บัดนี้หักเสียเป็นสองท่อน หักเฉพาะที่เอว ถ้าไม่หักคงสูงราว ๕ ศอก เครื่องสนิมพิมพ์พาภรณ์ไม่วิจิตรเหมือนองค์ที่เขาเวียง** แต่ฝีมือทำกล้ามเนื้อดีเหมือนคน เทวรูปนี้ยืนอยู่กลางฐานใหญ่ก่อด้วยอิฐแผ่นใหญ่... ”

      ต่อมาเทวรูปองค์นี้ถูกทุบทำลายแตกหักเป็นหลายชิ้น บริเวณพระพักตร์ พระศอ พระกร พระวรกาย กระทั่งประมาณเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ พระวรคีรีรักษ์ นายอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ได้ส่งเทวรูป องค์นี้มาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในครั้งนั้นทะเบียนระบุว่ามีชิ้นส่วนของเทวรูปองค์นี้ถึง ๑๓ ชิ้น

 

*กิรีฏมกุฎ หมายถึง มกุฎที่แสดงถึงความเป็นกษัตริย์

**หมายถึงเทวรูปพระวิษณุ ที่เขาเวียง (หรือเขาพระนารายณ์) อำเภอกะปง จังหวัดพังงา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตร เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒) ปัจจุบันเทวรูป องค์นี้จัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง จังหวัดภูเก็ต

 

อ้างอิง

เชษฐ์ ติงสัญชลี. บทบาทของศิลปะอินเดียต่อเครื่องแต่งกายประติมากรรมบุคคลในเอเชียอาคเนย์. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๖๒.

พิริยะ ไกรฤกษ์. ศิลปะทักษิณก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๓.

มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๐๖.

ศรีศักร วัลลิโภดม. อู่อารยธรรมแหลมทองคาบสมุทรไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๘.

“แจ้งความราชบัณฑิตยสภา เรื่อง มีผู้ให้ของแก่พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ ๔๖ ตอนที่ ๐ง. (๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๒): ๑๒๗๘-๑๒๘๓.

(จำนวนผู้เข้าชม 1931 ครั้ง)


Messenger