พระคเณศ ๔ กร
พระคเณศ ๔ กร
ศิลปะชวา พุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖
กรมวังนอก กระทรวงวังส่งมา เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๔
ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระคเณศ ๔ กร พระเกศาทรงชฎามงกุฎ มีลักษณะสำคัญคือรวบพระเกศาขึ้นเป็นมวย ปลายตกลงมาเป็นวงโค้ง กึ่งกลางเกี้ยวประดับเป็นตาบสามเหลี่ยมหนึ่งตาบ* อุณหิส (กระบังหน้า) ประดับตาบสามเหลี่ยม ๓ ตาบ** คั่นด้วยลายดอกไม้ขนาดเล็ก พระเนตรเปิดมองตรง งวงพาดไปยังพระหัตถ์ซ้ายล่าง พระพาหาทรงพาหุรัด และทองพระกร พระวรกายทรงครองสายธุรำ ส่วนปลายเป็นศีรษะงู พระกรขวาล่างถืองาช้างที่หัก พระหัตถ์ซ้ายล่างถือชามใส่ขนมโมทกะ หัก พระหัตถ์ขวาบนและพระหัตถ์ซ้ายบนไม่ปรากฏวัตถุที่ทรง เนื่องจากชำรุดหักหายไป นั่งแยกพระชงฆ์ ฝ่าพระบาททั้งสองข้างประกบกันบนฐานบัวคว่ำ-บัวหงาย
ลักษณะเด่นของพระคเณศองค์นี้คือพระเศียรยังแสดงการทรงชฎามงกุฎ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเป็นนักบวช สอดคล้องกับประวัติของพระคเณศ เป็นบุตรของพระศิวะซึ่งเป็นมหาฤๅษี โดยลักษณะทางประติมานวิทยาพระศิวะจะเกล้าพระเกศาทรงชฎามงกุฏเช่นกัน นอกจากนี้ลักษณะการประดับตาบสามเหลี่ยม การทรงพาหุรัด และท่านั่งแยกพระชงฆ์ และฝ่าพระบาทชิดกันดังกล่าวก็เป็นรูปลักษณะที่ปรากฏมาก่อนในประติมากรรมพระคเณศศิลปะอินเดีย อย่างไรก็ตามการซ้อนตาบกลางบนพระเศียรนั้นเป็นรูปแบบเฉพาะของศิลปะชวา ซึ่งต่างไปจากศิลปะอินเดีย
*ชำรุดหักหายไป
**คำว่า “ตาบ” ในที่นี้หมายถึง แผ่นรูปสามเหลี่ยมที่ประดับศิราภรณ์
อ้างอิง
เชษฐ์ ติงสัญชลี. ศิลปะไทยภายใต้แรงบันดาลใจจากศิลปะอินเดียแบบปาละ. นนทบุรี: มติชนปากเกร็ด, ๒๕๕๘.
อุไรศรี วรศะริน และคณะ. พระคเณศ เทพเจ้าแห่งศิลปวิทยา. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๕.
(จำนวนผู้เข้าชม 768 ครั้ง)