...

เรื่องเล่าจากพงศาวดาร
ย้อนรอยแผ่นดินพระจอมเกล้าฯ : เรื่องเล่าจากพงศาวดาร
(ตอนที่ ๗ เสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)
นำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจ จากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ของเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ (ขำ บุนนาค) หลักฐานชิ้นสำคัญที่มีคุณค่าต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย
.
เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๑๑ เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง มองเห็นได้ที่บ้านหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช เสด็จไปทอดพระเนตรพร้อมพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศ
.
การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ เป็นไปตามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราชทรงทำนายไว้ ๒ ปีก่อนเกิดสุริยุปราคา โดยทรงคำนวณและคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำว่า จะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๑๑ โดยเส้นศูนย์ของสุริยุปราคาจะอยู่ระหว่างแลตติจูด ๑๑ องศา ๓๘ ลิปดาเหนือ กับลองติจูด ๙๙ องศา ๓๙ ลิปดาตะวันออก และบริเวณที่สามารถเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงนานที่สุดคือที่บ้านหว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ โดยก่อนถึงวันเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ทรงเชิญนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติและทูตานุทูตมาร่วมสังเกตการณ์ รวมทั้งทรงเชิญ เซอร์ แฮรี ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์ ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฯ ดังนี้
      ในเดือน ๙ นั้นทรงพระราชดำริรำพึงถึงการสุริยุปราคาซึ่งจะมีในเดือน ๑๐ ขึ้น ๑ ค่ำ ได้ทรงคำนวณไว้แต่เมื่อปีขาล อัฐศกว่า ในปีมะโรง สัม๑๘ฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐ หรือพุทธศักราช ๒๔๑๑ จะมีสุริยุปราคาจับหมดดวงซึ่งยากนักที่จะได้เห็นในพระราชอาณาจักร ด้วยวิธีโหราศาสตร์ได้ทรงสระสมมานานตามสารัมภ์ไทย สารัมภ์มอญ แต่ตำราอเมริกันฉะบับเก่าและตำราอังกฤษเป็นหลายฉะบับ ได้ทรงคำนวณสอบสวนต้องกัน ได้ทรงกะการตามในแผนที่ว่าจะมีเป็นแน่ ทวีปขิยอุดรองสา ๑๑ ลิบดา ๔๑ พิลิบ ๔๐ เป็นตะวันตกกรุงเทพมหานครเพียง ลิบดา ๕๐ เวลา กับในกรุงเทพมหานครเพียง ๓ นาทีกับ ๒๐ วินาที ได้ทรงพิจารณาละเอียดถ้วนถี่แล้วว่า พระอาทิตย์จะจับหมดดวง และเห็นบนหน้าแผ่นดินไปไกลถึงลิบดา ๑๓๐ ต่อ ลิบดา ๑๔๐ ที่ตำบลหว้ากอแขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ตรงท่ามกลางที่มืดหมดดวง ขึ้นมาข้างบนถึงเมืองปราณบุรี ลงไปข้างใต้ถึงเมืองชุมพร ได้ทราบการเป็นแน่ดังนี้แล้ว จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งพณฯ หัวเจ้าท่านสมุหพระกลาโหมให้จัดการจ้างคนในหัวเมืองเพ็ชรบุรี เมืองปราณบุรี เมืองประจวบคีรีขันธ์ เมืองกำเนิดนพคุณ เมืองประทิว และนายงานหลายนายให้จัดการทำค่ายหลวงและที่พลับพลาประทับแรม ที่ตำบลหว้ากอ ตรงเกาะจานเข้าไป ใต้คลองวานลงไปทาง ๒๔ เส้น แล้วโปรดให้แต่งคำประกาศตีพิมพ์แจกให้ทราบทั่วกัน
 ในครั้งนี้ พวกนักปราชญ์ฝรั่งเศสได้ทราบว่าสุริยุปราคาจะมีในพระราชอาณาจักรแผ่นดินสยาม จึงมีหนังสือมาถึงกงสุลฝรั่งเศสที่อยู่ในพระนครนี้ ให้กราบทูลขอพระราชทานอนุญาตที่จะเข้ามาดูสุริยุปราคา ก็โปรดพระราชทานตามประสงค์ พวกฝรั่งเศสมาเที่ยวค้นหาที่จะดูนั้นเป็นหลายตำบล ค้นลงไปถึงเมืองชุมพร ก็ไม่ได้ตำบลซึ่งจะชี้ให้ตรงที่กึ่งกลางทางพระอาทิตย์ ครั้นเมื่อพณฯ ท่านสมุหพระกลาโหมกะการให้ตั้งทำที่ค่ายหลวงที่ตำบลหว้ากอตรงเกาะจานเข้าไปแล้ว ภายหลังพวกนักปราชญ์ฝรั่งเศสจึงได้มาตั้งโรงที่จะดูนั้นที่แห่ง ๑ ต่ำลงไปข้างใต้พลับพลาที่ค่ายหลวงทาง ๑๘ เส้น ตั้งเครื่องกล้องใหญ่น้อยหลายอย่างประมาณ ๕๐ คันเศษ
 ครั้นณวันศุกรเดือน ๙ แรม ๔ ค่ำ หรือวันที่ ๗ สิงหาคม ฯ เวลาเช้า ๔ โมง ๕๐ นาที เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช ออกจากท่านิเวศน์วรดิษฐ์ใช้จักรไปถึงเมืองสมุทรปราการ เวลาย่ำเที่ยงแล้ว ๑๕ นาที ทอดสมออยู่ ๓ ชั่วโมงเศษ เวลาบ่าย ๔ โมง ๑๕ นาทีใช้จักรออกที่ทอดสมอแล้วข้ามสันดอน ตกน้ำลึก ๓ วา เย็น ๕ โมง ๔๓ นาทีแล้ว ยิงสลุตรับ ๓ นัด เรือสยามูปสดัมภ์ก็ยิงรับ ๑๒ นัด จนถึงเวลา ๖ โมง ๑๒ นาที
 รุ่งขึ้นณวันเสาร์เดือน ๙ แรม ๕ ค่ำ หรือวันที่ ๘ สิงหาคม ฯ เวลาย่ำรุ่งแล้วถึงเขาสามร้อยยอด ใช้จักรไปเวลา ๔ โมงเช้าถึงเกาะหลัก เวลาเที่ยงถึงที่ทอดสมอหน้าค่ายหลวงตำบลหว้ากอ ที่ตรงนั้นน้ำลึก ๘ ศอกใต้คลองวานเหนือเกาะจาน แต่อากาศมืดคลุ้ม มีแต่เมฆปกคลุมไปทุกทิศทุกแห่งไม่เห็นแดดและเดือนดาวเลย พระอาทิตย์พระจันทร์เห็นบ้างรางๆ บาทนาฬิกา ๑ บ้าง กึ่งบาทบ้าง และที่ทอดเรือหน้าค่ายหลวงที่ตรงกับตำบลหว้ากอนั้น คลื่นใหญ่่เรือโคลงอยู่เสมอเรือพระที่นั่ง ได้ทอดอยู่ที่หน้าค่ายหลวงประมาณ ๖ ชั่วโมง ครั้นเวลาย่ำค่ำมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ถอยเรือพระที่นั่งกลับไปทอดประทับแรมอยู่ที่อ่าวมะนาว อันเป็นที่ลับบังลมไม่มีคลื่นใหญ่ เหนือที่พลับพลาไปทางประมาณ ๒๐๐ เส้นเศษ ทอดประทับแรมอยู่ ๒ วัน
 ณวันจันทร์ เดือน ๙ แรม ๗ ค่ำ หรือวันที่ ๑๐ สิงหาคม ฯ เวลาเย็น เสด็จพระราชดำเนินขึ้นจากเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชขึ้นฝั่ง ทรงม้าพระที่นั่งตั้งแต่อ่าวมะนาวลงไปถึงพลับพลาค่ายหลวงตำบลหว้ากอ เวลาย่ำค่ำเรือพระที่นั่งก็ถอยลงไปทอดอยู่ที่หน้าค่ายหลวง ห่างฝั่งประมาณ ๒๐ เส้นเศษ เรืออรรคเรศรัตนาศน์ เรือสยามูปสดัมภ์และเรืออื่นๆ ก็ทอดล้อมวงอยู่ชั้นนอกพร้อมกัน
 รุ่งขึ้นณวันอังคาร เดือน ๙ แรม ๘ ค่ำ เวลาเช้า ๓ โมงเศษ ได้พระฤกษ์ยกเสาธงและฉัตร ชักธงพระจอมเกล้าขึ้นที่พลับพลาค่ายหลวง รับสั่งให้ประโคมแล้วทรงจุดปืนใหญ่ด้วยพระหัตถ์ สลุตธงสลับกันกับทหารปืนใหญ่ฝ่ายละนัดจนครบ ๒๑ นัด ทั้ง ๒ ข้าง ปืนเรือสยามูปสดัมภ์ได้ยิงอีก ๒๑ นัด รวมเป็น ๖๓ นัด เวลาบ่าย ๑ โมง พวกนักปราชญ์ฝรั่งเศสมาเฝ้าที่พลับพลา ๘ นาย พระราชทานทองคำ (บางสะพาน) กำเนิดนพคุณทุกนาย
 รุ่งขึ้นณวันพุธ เดือน ๙ แรม ๙ ค่ำ หรือวันที่ ๑๒ สิงหาคม ฯ เวลาย่ำค่ำ พวกออฟฟิศเซอร์ในเรือรบ ๑๒ นาย ขึ้นมาเฝ้าที่พลับพลา พระราชทานทองคำกำเนิดนพคุณทุกนาย
 ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๑๐ ค่ำ เวลาเช้า กัปตันนายเรือรบฝรั่งเศส ขอเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ ให้เสด็จลงไปเที่ยวในเรือรบ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พณฯหัวเจ้าท่าน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ลงไปด้วย กำมดัน (กัปตัน) จัดการรับเสด็จเหมือนอย่างรับกษัตริย์ในประเทศยุโรป มีทหารทอดกริบและยืนเพลา แล้วยิงปืนใหญ่รับ ๒๑ นัด ทหารบรรจุปืนปัศตันลุกขึ้นลากกระชากเอาแขนขาดตายคน ๑ ครั้นเวลาค่อนเที่ยง ทรงวัดแดดสอบแผนที่ที่ตั้งค่ายหลวง ครั้นเวลาบ่าย ๕ โมงเศษ เสด็จพระราชดำเนินไปที่โรงนักปราชญ์ฝรั่งเศสมาตั้งอยู่ เวลาจวนค่ำเสด็จกลับ
 ณ วันศุกร เดือน ๙ แรม ๑๑ค่ำ เวลาเช้า ๓ โมงเศษ มิสเตอร์อาลบาสเตอร์ ผู้ว่าราชการกงสุลอังกฤษขึ้นไปเฝ้าที่พลับพลา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยิงปืนรับ ๗ นัด
 ณ วันเสาร์ เดือน ๙ แรม ๑๒ ค่ำ เวลาเช้า ๓ โมง เรือเจ้าพระยามาถึงที่ค่ายหลวง ได้ทรงรับหนังสือข่าวต่างๆ หลายฉะบับ กับของที่สั่งไปจัดซื้อมาแต่เมืองลอนดอนสำหรับแจกในการพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ฯ อีกมาก
 ณวันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ ๔ (เซอร์ แฮร์รีออด) เจ้าเมืองสิงคโปร์ มาด้วยเรือกลไฟ ๓ ลำ ถึงหว้ากอเวลา ๓ โมงเช้า โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หลวงพิเศษพจนการ (หวาด บุนนาค ในรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นพระยาอรรคราชนารถภักดี ฯ) เป็นข้าหลวงไปเยี่ยมเยียน
ครั้นณวันจันทร์ เดือน ๙ แรม ๑๔ ค่ำ หรือวันที่ ๑๗ สิงหาคม ฯ เจ้าเมืองสิงคโปร์ขึ้นมาเฝ้าที่พลับพลาค่ายหลวง โปรดให้ยิงปืนสลุตรับ ๑๑ นัด ให้พระราชทานทองคำบางสพาน ตั้งแต่เจ้าเมืองสิงคโปร์และพวกออฟฟิศเซอร์ที่ขึ้นมาเฝ้าทุกคน แล้วเชิญให้ไปอยู่ที่เรือนพักซึ่งทำไว้รับแขก
 รุ่งขึ้นณวันอังคาร เดือน ๑๐ ขึ้น ๑ ค่ำ หรือวันที่ ๑๘ สิงหาคม ฯ เวลา ๒ โมงเช้า เจ้าพนักงานเตรียมกล้องใหญ่น้อยเครื่องทรงทอดพระเนตรสุริยุปราคา เวลาเช้า ๔ โมง ๓ นาที เสด็จออกทรงกล้อง แต่ท้องฟ้าเป็นเมฆฝนคลุ้มไป ในด้านตะวันออกไม่เห็นอะไรเลยต่อเวลา ๔ โมง ๑๖ นาที เมฆจึงจางสว่างออกไปเห็นดวงพระอาทิตย์ไรๆ แลดูพอรู้ว่าจับแล้ว จึงประโคมเสด็จสรงมุรธาภิเศก ครั้นเวลา ๕ โมง ๒๐ นาที แสงแดดอ่อนลงมา ท้องฟ้าตรงดวงอาทิตย์สว่างไม่มีเมฆเลย ที่อื่นแลเห็นดาวใหญ่ด้านตะวันตกและดาวอื่นๆ มากหลายดวง เวลา ๕ โมงกับ ๓๖ นาที ๒๐ วินาที จับสิ้นดวง เวลานั้นมืดเป็นเหมือนกลางคืนเวลาพลบค่ำ คนที่นั่งใกล้ๆ กันก็แลดูไม่รู้จักหน้ากัน แล้วพระราชทานเงินแจกพระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ซึ่งตามเสด็จโดยพระราชดำเนินออกไปทั่วกัน
 รุ่งขึ้นณวันพุธ เดือน ๑๐ ขึ้น ๒ ค่ำ ๑ เวลาเช้า ๓ โมงเศษ เจ้าเมืองสิงคโปร์ขอถ่ายพระรูป แล้วโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีละครผู้หญิงให้พวกอังกฤษและฝรั่งเศสดู ให้พาภรรยาเจ้าเมืองสิงคโปร์เข้าไปข้างใน ได้พระราชทานทองและก๊าศพระเจ้าลูกเธอฝ่ายในทุกพระองค์ เวลาบ่าย ๓ โมง ๑๕ นาที เสด็จลงเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช พวกทหารปืนใหญ่ยิงสลุตส่งเสด็จ ๒๑ นัด ทหารที่ยิงปืนปัศตันลุกขึ้นลากพุ่งออกมากระชากเอาแขนขาดไปข้าง ๑ ตายในที่นั้น เรือพระที่นั่งออกจากที่ทอดหน้าค่ายหลวง ใช้จักรมา
.
ภาพ : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่บ้านหว้ากอ เมืองประจวบคีรีขันธ์ ประทับ ณ เกยหน้าพลับพลาที่ประทับ โปรดให้ฉายพระรูปกับคณะแขกเมือง ณ ค่ายหลวงบ้านหว้ากอ

(จำนวนผู้เข้าชม 1497 ครั้ง)


Messenger