...

พระบรมราชาธิบายรัชกาลที่๔ในพระราชพิธีสิบสองเดือน

        หนังสือเล่มนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ โดยทรงอธิบายไว้อย่างละเอียด และได้รับการยกย่องว่า เป็นยอดของความเรียงอธิบาย จากวรรณคดีสโมสร น่าสนใจว่าแทบทุกตอน จะทรงกล่าวถึงพระราชบิดา คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราชเสมอ ในฐานะที่ทรงเป็นผู้รอบรู้ในทางราชประเพณี ดังเรื่องสงกรานต์ ความว่า

        “…ในเรื่องที่เปลี่ยนปีนี้ ตามพระบรมราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงไว้ในคําประกาศแห่งหนึ่งได้นำมาลงไว้ในหนังสือวชิรญาณเล่ม ๒ ฉบับที่ ๑๓ จํานวนเดือน ๑๑ ปี ๑๒๔๗ มีข้อใจความซึ่งว่าด้วยแรกที่จะกําหนดปีนี้ โบราณคิดเห็นว่าฤดูหนาวเป็นเวลาพ้นจากมืดฝนสว่างขึ้นเปรียบเหมือนเวลาเช้า คนโบราณจึงได้คิดนับเอาฤดูหนาวเป็นต้นปี ฤดูร้อนเป็นเวลาสว่างร้อนเหมือนกลางวัน จึงได้คิดว่าเป็นกลางปี ฤดูฝนเป็นเวลามืดคลุ้มโดยมาก และฝนพรำเที่ยวไปไหนไม่ใคร่ได้ จึงได้คิดเห็นว่าเป็นเหมือนกลางคืน คนทั้งปวงเป็นอันมากถือว่าเวลาเช้าเป็นต้นวัน กลางคืนเป็นปลายวันฉันใด คนโบราณก็คิดเห็นว่าฤดูเหมันต์ คือฤดูหนาวเป็นต้นปี ฤดูคิมห คือฤดูร้อนเป็นกลางปี ฤดูวัสสานะ คือฤดูฝนเป็นปลายปี เพราะเหตุนั้นจึงได้นับชื่อเดือนเป็น ๑ มาแต่เดือนอ้าย ข้อความอื่นๆ ถ้าผู้ใดอยากจะทราบ จงอ่านหนังสือวชิรญาณที่อ้างถึงมาข้างต้นนั้นเถิด ที่ยกมาว่าเดี๋ยวนี้เพื่อจะมาพิจารณาให้เห็น ว่าเหตุใดจึงไม่ตั้งปีใหม่ที่เดือนอ้าย ซึ่งแปลว่าเดือน ๑ มาตั้งปีใหม่ต่อเดือน ๕, เดือน ๖ คิดเห็นว่าความที่ตั้งเดือนอ้ายเป็นเดือน ๑ คงเป็นการถูกต้องตามกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงไว้นี้ แต่วิธีนับเดือนเช่นนี้เห็นจะมีมาก่อนที่นับศักราชเป็นเรื่องเดียวกันกับนับปี เป็นชวด ฉลู ขาล เถาะ ครั้นเมื่อมีผู้ตั้งศักราชขึ้นใช้ อาศัยเหตุที่จะเริ่มต้นตั้งศักราช เช่นพระพุทธศักราช นับตั้งแต่วันปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็ต้องไปตั้งสงกรานต์เอาในวันวิศาขบุรณมี ซึ่งเป็นหัวรอบเหมือนอย่างกับนับเป็นเดือน ๑ ขึ้นใหม่นั้นอย่างหนึ่ง ด้วยมีเหตุที่จะสังเกตตัดวิธีกระบวนคิดอ่านได้ง่ายเช่นกับสงกรานต์ของจุลศักราช กำหนดเอาพระอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีเมษซึ่งเป็นราศีดาวที่ฤกษ์ขาดตอนไม่ขนาบคาบเกี่ยวกับราศีอื่นๆ เป็นต้นนี้อย่างหนึ่ง เพราะเหตุเหล่านี้จึงได้ทิ้งชื่อเดือนที่ ๑ เดิมเสีย ให้ไปตกอยู่กลางปีหรือปลายปีตามแต่จะเป็นไป แต่ชื่อเดือนเช่นนั้นเคยใช้เข้าใจกับซึมซาบมาแล้ว ก็ทิ้งให้เคลื่อนอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนแปลงก็ไม่มีผู้เรียกตาม…”

 

ภาพ : ภาพถ่ายเก่าพระนครคีรี ถ่ายจากยอดพระราชวัง มองเห็นยอดพระธาตุจอมเพชร และยอดวัดพระแก้วน้อย

 

(จำนวนผู้เข้าชม 887 ครั้ง)