...

มหามกุฏราชสันตติวงศ์ ๒๐ กันยายน ๒๓๙๖ วันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          มหามกุฏราชสันตติวงศ์ ๒๐ กันยายน ๒๓๙๖ วันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ พระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๓๙๖ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ที่ประสูติแต่พระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี)

          พระองค์มีพระขนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดารวม ๓ พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ และสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้นในสำนักพระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา ทรงได้รับการศึกษาด้านอักษรศาสตร์ ภาษาเขมรจากหลวงราชาภิรมย์ ทรงได้การศึกษาการยิงปืนไฟจากพระยาอภัยเพลิงศร

         เมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๔ ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ วันที่ ๔ มกราคม ๒๔๐๘ (นับแบบปัจจุบันเป็นพุทธศักราช ๒๔๐๙) โปรดให้โสกันต์สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ แล้วทรงผนวชเป็นสามเณร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายหลังจากการผนวช โปรดให้ตั้งพิธีเลื่อนสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นเป็น กรมขุนพินิตประชานาถ เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๔๑๐ (นับแบบปัจจุบันเป็นพุทธศักราช ๒๔๑๑) โดยทรงกำกับราชการกรมมหาดเล็ก กรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมทหารบกวังหน้า

        วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตภายหลังเสด็จออกทอดพระเนตรสุริยุปราคา ๑๘ สิงหาคม ๒๔๑๑  พระองค์จึงได้รับการทูลเชิญให้ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระราชบิดา โดยในขณะนั้น มีพระชนมายุเพียง ๑๕ พรรษา ดังนั้น จึงได้แต่งตั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนกว่าพระองค์จะมีพระชนมพรรษครบ ๒๐ พรรษา โดยทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๑๑ โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว

        เมื่อพระองค์มีพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษาแล้ว เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๔๑๖ จึงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร หลังจากทรงลาสิกขาแล้ว ได้มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ขึ้น เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๑๖ โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยในครั้งนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระชนมพรรษา ๕๘ พรรษา

 

ภาพ : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

(จำนวนผู้เข้าชม 1566 ครั้ง)


Messenger