สารคดี ๑๑๒ ปี ไพรัชไมตรี ณ เมืองเพชรบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี ตอนที่ ๙ ไพรัชไมตรี ณ เมืองเพชรบุรี
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศในซีกโลกตะวันตกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายการเปิดรับประเทศต่างๆ เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช โดยประเทศเหล่านั้นได้ส่งผู้แทนรัฐบาลเข้ามาเจรจาทำสนธิสัญญากับราชสำนักสยาม เพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ขณะเดียวกันการไหลหลั่งเข้ามาสู่ดินแดนซีกโลกตะวันออก ยังเป็นการเข้ามาเพื่อแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ๆ ในด้านต่างๆ ด้วย ดังเห็นได้จากการเดินทางเข้ามาของบรรดานักวิทยาศาสตร์ นักสำรวจ บาทหลวง กระทั่งคณะท่องเที่ยวสำรวจขนาดใหญ่ ที่มีพระราชวงศ์ต่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะ ออกเดินทาง “สำรวจโลก” และได้มาเยือนราชอาณาจักรสยาม
เมื่อ ๑๑๒ ปีมาแล้วในพุทธศักราช ๒๔๕๒ ดยุคโยฮันอัลเบิร์ตแห่งเม็คเคลนบวร์ก ผู้สำเร็จราชการราชรัฐ บรันซวิก อันเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเยอรมัน เสด็จมายังราชอาณาจักรสยาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดการรับเสด็จอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ด้วยทรงรู้จักคุ้นเคยกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน สืบเนื่องจากเมื่อ ๒๖ ปีก่อนหน้านี้ ในพุทธศักราช ๒๔๒๖ ดยุคโยฮันอัลเบิร์ต ได้เคยมาเยือนราชอาณาจักรสยามแล้วครั้งหนึ่ง ในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวทวีปเอเชีย ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ดยุคฯ ทอดพระเนตรสถานที่สำคัญ และกิจกรรมสำคัญต่างๆ ทั้งในพระนครและหัวเมือง ซึ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าโปรดให้ดยุคฯ เดินทางไปสองหัวเมืองสำคัญ คือเมืองราชบุรี และเมืองเพชรบุรี ซึ่งมีความสำคัญขึ้นมานับตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังบนเขามหาสวรรค์ เมืองเพชรบุรี และในรัชกาลที่ ๕ ที่มีการสร้างพระราชวังบนเขาอีกแห่งหนึ่งที่เมืองราชบุรี
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปทั้งสองครั้งในพุทธศักราช ๒๔๔๐ และในพุทธศักราช ๒๔๕๐ นั้น ดยุคโยฮันอัลเบิร์ต ขณะเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองชเวริน และราชรัฐบรันซวิก ได้จัดการรับเสด็จอย่างยิ่งใหญ่ทั้งสองคราว ทำให้ทรงสนิทสนมคุ้นเคยยิ่งขึ้น กระทั่งในปลายปีพุทธศักราช ๒๔๕๒ ดยุคโยฮันอัลเบิร์ต ได้แจ้งเข้ามาว่าจะเดินทางเข้ามาราชอาณาจักรสยามอีกครั้ง โดยจะทรงดัชเชสอลิธซาเบธ รอต๙ลา สโตลเบิร์ก พระชายาซึ่งเพิ่งอภิเษกเข้ามาด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบจึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการรับเสด็จ สันนิษฐานว่าโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช เป็นผู้ “กะโปรแกรม” ร่วมกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต โดยกำหนดการรับเสด็จดยุคโยฮันอัลเบิร์ตในคราวนี้ โปรดเกล้าฯ ให้รับเสด็จทั้งในพระนครและหัวเมือง อันได้แก่อยุธยา และเพชรบุรี
กล่าวเฉพาะเมืองเพชรบุรีนั้น โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการจัดการรับรองที่เมืองเพชรบุรี ด้วยเป็นทำหน้าที่ “กะโปรแกรม” การเสด็จประพาสในรัชกาลที่ ๕ อยู่เสมอ และเคยได้รับเสด็จดยุคฯ แต่เมื่อครั้งยังดำรงพระยศ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ในครั้งนั้นมีการซ่อมแซมหมู่พระที่นั่งของพระราชวังพระนครคีรีบนเขามหาสวรรค์ เพื่อใช้เป็นที่ประทับ และจัดให้ดยุคฯ พระชายาและคณะ ทอดพระเนตรและชมสถานที่สำคัญต่างๆ ที่สำคัญของเมืองเพชรบุรี อาทิ เขามหาสวรรค์ ถ้ำเขาหลวง ถ้ำเขาบันไดอิฐ วัดพระพุทธไสยาสน์ วัดใหญ่สุวรรณาราม หมู่บ้านเวียงคอยของชาวลาวโซ่ง การล่องแม่น้ำเพชรบุรี ตลาดเมืองเพชรบุรี รวมไปถึงสถานที่สร้างพระราชวังแห่งใหม่ที่บ้านปืน
หลักฐานจากบุคคลร่วมสมัย แสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญกับการรับรองพระราชอาคันตุกะของพระองค์อย่างยิ่ง ดังปรากฏว่าได้เสด็จฯ มาทอดพระเนตรการซ่อมแซมหมู่พระที่นั่งของพระนครคีรีด้วยพระองค์เองก่อนที่ดยุคฯ จะมาถึง และทรงคัดเลือกบุคคลผู้ที่มีความสามารถให้เป็นผู้ประจำองค์ดยุคและพระชายา ตลอดจนมีสถานที่และกิจกรรมมากมาย ที่สร้างความประทับใจแก่พระราชอาคันตุกะ โดยทรงอนุโลมตามอย่างที่ดยุคได้เคยรับเสด็จพระองค์ในต่างประเทศมาแล้ว
การเสด็จเมืองเพชรบุรีของดุ๊กโยฮันอัลเบิร์ตและพระชายาในระหว่างวันที่ ๒๖ มกราคม ถึงวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๒ (นับอย่างปัจจุบันคือ ๒๔๕๓) นับเป็นการรับรองพระราชอาคันตุกะสำคัญในรัชกาลที่ ๕ ครั้งสุดท้าย เพราะต่อมาอีกเพียง ๘ เดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต ครั้นรัชกาลต่อมา แม้จะมีพระราชอาคันตุกะเข้ามาเยือนราชอาณาจักรสยาม เช่นคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ในรัชกาลที่ ๖ แต่ก็ไม่มีการรับเสด็จอย่างยิ่งใหญ่เช่นนี้อีก และจะมีธรรมเนียมการรับรองพระราชอาคันตุกะเช่นนี้อีกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จัดการรับรองในหัวเมืองทางภาคเหนือเป็นหลัก ขณะที่เมืองเพชรบุรี หลังรัชกาลที่ ๕ ยังคงมีความสำคัญในฐานะสถานที่แปรสถานที่สำหรับการพักผ่อนตั้งแต่พระมหากษัตริย์ เจ้านาย และสามัญชน โดยอยู่ในพื้นที่ชายทะเลเป็นหลัก
เรื่องราวของการมาเยือนเมืองเพชรบุรีของดยุคโยฮันอัลเบิร์ตแห่งเม็คเคลนบวร์ก อาจเลือนหายไปจากความทรงจำของคนรุ่นหลังบ้าง แต่ในเมืองเพชรบุรี ยังคงปรากฏสิ่งเสมือนอนุสรณ์แห่งการมาเยือนครั้งนั้น เป็นประจักษ์พยานสำคัญของไพรัชไมตรีที่สำคัญคราวหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย
วสันต์ ญาติพัฒ , ณัฐพล ชัยมั่น ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี เรียบเรียง
อ้างอิง
จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. รวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง
ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๔๘.
จารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). จารึกบนฐานพระพุทธรูปถ้ำเขาบันไดอิฐ. https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1018
จดหมายเหตุเรื่องส่งเสด็จ พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จยุโรปครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙.
กรุงเทพฯ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๖๖. (สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีพระบรมราชินีโปรดให้พิมพ์ในงารพระศพ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนเพ็ชรบูรณอินทราชัย ครบศตมาห ณวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๖)
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาค ๑๔. กรุงเทพฯ โรงพิมพ์มหา
มกุฎราชวิทยาลัย, ๒๔๘๑. (โอรสและธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรประการ พิ มพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมใหญ่ เทวกุล วันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑)
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน ฉบับมีรูปภาพ เล่ม ๒. พิมพ์ครั้งที่ห้า.
กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๓๗. (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักราชเลขาธิการจัดพิมพ์พระราชทานเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอกสันติภาพ หมู่มิ่ง ป.ช., ป.ม., ท.จ.)
ทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์(บรรณาธิการ). พระพุทธรูปสำคัญจังหวัดเพชรบุรี. เพชรบุรี : บริษัท เพชรภูมิการพิมพ์
จำกัด, ๒๕๕๘. (ที่ระลึกงานสมโภช ๑๐๐ ปี การสถาปนาพระอารามหลวง วัดมหาธาตุฯ จ.เพชรบุรี ๒๕๕๘)
ทิพากรวงษ์, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔. พิมพ์ครั้งที่ กรุงเทพฯ บริษัท
อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด,
ธันวา วงศ์เสงี่ยม (บรรณาธิการ). จดหมายเหตุเสด็จประพาสต่างประเทศในรัชกาลที่ ๕ เสด็จเมืองสิงคโปร์ แล
เมืองเบตาเวียครั้งแรก แลเสด็จประพาศประเทศอินเดีย.กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๖๑.
https://en.wikipedia.org/.../Duke_John_Albert_of_Mecklenburg Duke John Albert of Mecklenburg
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๔ น่า ๓๐๕ ข่าวเสด็จพระราชดำเนินมาโดยทางโทรเลข. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2440/023/305.PDF
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๓ หน้า ๑๓๓๓ วันที่ ๓๑ มีนาคม ๑๒๕. พระราชพิธีประพาศยุโรปประเทศ รัตนโกสินทรศก ๑๒๕ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/.../2449/053/1333_3.PDF
ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๒๖ น่า ๒๕๘๖ วันที่ ๖ มีนาคม ๑๒๘ การรับดุ๊กโยฮันอัลเบรกต์ ผู้สำเร็จราชการเมือง บรันซวิก. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2452/D/2586.PDF
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๔ น่า ๕๑๑ วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๑๒๖. พระราชโทรเลข http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2450/019/510.PDF
บันทึกความทรงจำของหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล. กรุงเทพฯ : วัชรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๑. (ที่ระลึกในการ
พระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิริน ทราวาส ๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๑)
ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๔๖ เรื่องจดหมายเหตุของคณะพ่อค้าฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยาฯ
ภาคที่ ๖. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ตีรณสาร,๒๕๐๕.(ตีพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรีพระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ (เตี้ยม บุนนาค) ม.ว.ม., ป.ช., ท.จ.ว.) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕)
ประวัติของมหาอำมาตย์ตรี พระยาประชากิจกรจักร์ (ชุบ โอสถานนท์). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ลมูลจิตต์ ,๒๔๙๙.
(นายจุลินทร์ ล่ำซำ พิมพ์เป็นธรรมบรรณาการ ในงานพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดมกำกษิตริยาราม วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๙)
ประภาพรรณ ศรีสุข(บรรณาธิการ). พระนครคีรี. พิมพ์ครั้งที่ ๖. สมุทรสาคร : บริษัท บางกอกอินเฮ้าส์ จำกัด,
๒๕๖๑.
พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทาน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรม
พระยาดำรงราชานุภาพ ในเวลาเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป ครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๕๐. กรุงเทพฯ โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๔๙๑. (ตีพิมพ์ในงานพระเมรุ พระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร ณ วัดเทพศิรินทราวาส พ.ศ. ๒๔๙๑)
พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและลายพระหัตถ์สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาล
มารศรี พระอรรคราชเทวี. พระนคร : โรงพิมพ์ไทยเขษม, ๒๔๙๓. (พิมพ์ในงานพระเมรุฯ ณ ท้องสนามหลวง วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๔๙๓)
สมบูรณ์ แก่นตะเคียน(บรรณาธิการ). สมุดเพชรบุรี ๒๕๒๕. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๒๕.
สัมภาษณ์ พระปลัดบุญมี ปุญญฺภาโค, เจ้าอาวาสวัดเขาบันไดอิฐ, ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔.
สำเนาพระราชหัตถ์เลขาส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น
สุขุม) กับประวัติเจ้าพระยายมราช. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์บำรุงธรรม ,๒๔๘๒.(พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส)
สาส์นสมเด็จ วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๘๔ https://vajirayana.org/.../%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0...
ศิลปากร, กรม. พิธีต่างๆ ในสาส์นสมเด็จ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เจริญธรรม, ๒๕๒๐.(พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงาน
พระราชทานเพลิงศพ พระอำนวยสัณหนิติ์ (ฉัตร บุณยสุขานนท์) ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันที่ ๑๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐)
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกระทรวงการต่างประเทศ กต.๓๓.๖.๓ ปึกที่ ๑๖ เรื่อง กำหนด การรับดุ๊กโยฮันอัลเบรกต์ผู้สำเร็จราชการบรันซวิก ร,ศ,๑๒๘
__________. เอกสารกระทรวงการต่างประเทศ กต.๓๓.๖.๓ ปึกที่ ๒๐ เรื่อง ดุ๊กโยฮันอัลเบรกต์จะเข้ามากรุงเทพฯ
__________. เอกสารรัชกาลที่ ๕ ใบบอกเมืองราชบุรี ร.๕ ม. เล่ม ๑๒ (จ.ศ๑๒๔๕)
__________. เอกสารรัชกาลที่ ๕ หนังสือกราบบังคมทูล ร.๕ - นก. เล่ม ๒๓ (จ.ศ. ๑๒๔๕)
__________. เอกสารเย็บเล่มกรมราชเลขาธิการรัชกาลที่ ๕ สมุดพิเศษ ร.๕ รล. - พศ. เล่ม ๒๑ (จ.ศ. ๑๒๔๕)
อนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพ พลตรีพระยาอานุภาพไตรภพ (จำรัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ป.ช., ป.ม.,
ท.จ., ราชองครักษ์ จ.ป.ร.. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหารบก,๒๕๐๔.
ทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์(บรรณาธิการ). พระพุทธรูปสำคัญจังหวัดเพชรบุรี. เพชรบุรี : บริษัท เพชรภูมิการพิมพ์
จำกัด, ๒๕๕๘. (ที่ระลึกงานสมโภช ๑๐๐ ปี การสถาปนาพระอารามหลวง วัดมหาธาตุฯ จ.เพชรบุรี ๒๕๕๘)
ภาพประกอบ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับทรงฉายพระบรมรูปพร้อมด้วยคณะของดยุคโยฮันอัลเบิร์ตแห่งเม็คเคลนบวร์ก ที่พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร พระราชวังบางปะอิน วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๘ ประกอบด้วยบุคคลต่างๆ ดังนี้
แถวนั่ง
๑. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงศ์ศิริพัฒน์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า
๒.สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต
๓.ดัชเชสอลิสซาเบธ รอตซาลา สโตลเบิร์ก พระชายา
๔.พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๕.ดยุคโยฮันอัลเบิร์ต แห่งเม็คเคลนบวร์ก- ชเวริน
๖.หม่อมเจ้าประสงค์สม พระชายาในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต
แถวยืน
๑.นายร้อยเอก หลวงอภิบาลภูวนารถ (จำรัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ประจำองค์ดยุค
๒.นายพันโท หลวงจัตุรงควิไชย (เตี้ยม บุนนาค) ประจำองค์ดยุค
๓.แพทย์ ประจำตัวดยุคฯ
๔.นายช่างเขียนประจำคณะของดยุคฯ
๕.ภรรยาขององครักษ์ดยุคฯ
๖.คุณหญิงอุ๊น ภรรยาพระยามหิบาลบริรักษ์ ประจำองค์ดัชเชส
๗.นายพลตรี พระยาสุรเสนา (กลิ่น แสง-ชูโต) สมุหราชองครักษ์
๘.เจ้าชายเฮนรี่ที่ ๓๓ ออฟรอยซ์ หลานของดยุคฯ
๙.องครักษ์ของดยุคฯ Oberleutnant von Grone
๑๐.พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) จางวางมหาดเล็ก
๑๑. ไม่ทราบนาม
(จำนวนผู้เข้าชม 1197 ครั้ง)