...

สารคดี ๑๑๒ ปี ไพรัชไมตรี ณ เมืองเพชรบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี ตอนที่ ๗ การรับเจ้า และเสด็จเมืองเพชรบุรี


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำดยุคโยฮันอัลเบิร์ตแห่งเม็คเคลนบวร์ก เสด็จขึ้นพลับพลา เพื่อทอดพระเนตรการตรวจพลสวนสนามของทหารในกรุงเทพฯ วันที่ ๒๙ มกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๘ (พุทธศักราช ๒๔๕๒)

     สารคดี ๑๑๒ ปี ไพรัชไมตรี ณ เมืองเพชรบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี ตอนที่ ๗ การรับเจ้า และเสด็จเมืองเพชรบุรี
     การเสด็จประพาสเมืองเพชรบุรีของดยุคโยฮันอัลเบิร์ต ผู้สำเร็จราชการเมืองบรันซวิก และดัชเชสอลิสซาเบธ สโตลเบิร์ก รอตซาลา พระชายา มีรายละเอียดอยู่ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๖ วันที่ ๖ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๘ 

      เรื่อง “การรับดุ๊กโยฮันอัลเบรกต์ ผู้สำเร็จราชการ เมืองบรันซวิก”  ดังนี้
“การรับดุ๊กโยฮันอัลเบรกต์

 ผู้สำเร็จราชการเมืองบรันซวิก

.................................................................

     ดุ๊กโยฮันอัลเบรกต์เมืองเมกเคลนเบิกชเวริน ซึ่งเปนพระอาว์ของแกรนดุ๊กเมกเคลนเบิกชเวรินองค์ประจุบันนี้ เคยเข้ามาเฝ้าที่กรุงเทพฯประมาณ ๒๗ ปีมาแล้ว ครั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนิรประพาศยุโรปครั้งแรก ได้เปนริเยนต์ผู้สำเร็จราชการเมืองชเวริน ในเวลาที่แกรนดุ๊กพระหลานยังเยาว์ ได้เชิญเสด้จพระราชดำเนิรเยี่ยมเมืองชเวริน เสด็จประทับอยู่ใน      

     พระราชวังเมืองชเวรินเปนหลายราตรี ได้จัดการรับเสด็จโดยความจงรักภักดีเปนอันมาก ครั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนิรประพาศยุโรปครั้งนี้ประจวบเวลาซึ่งดุ๊กโยฮันอัลเบรกต์ได้รับตำแหน่งเปนริเยนต์ผู้สำเร็จราชการเมืองบรันซวิก เชิญเสด็จพระราชดำเนิรไปประทับในพระราชวังเมืองบรันซวิกหลายราตรี ได้จัดการรับเสด็จโดยความจงรักภักดีอีกครั้งหนึ่ง ได้ทรงสนิทคุ้นเคยกับดุ๊กทั้งสามคราวที่ได้เฝ้าแลประทับอยู่ด้วยนั้น ดุ๊กโยฮันอัลเบรกต์แลดัชเชสอิลิซาเบตพระชายาซึ่งได้ทรงคุ้นเคยเหมือนพระสามี ได้กำหนดว่าจะเข้ามาเฝ้าเยี่ยมตอบถึงกรุงเทพฯ ในระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนิรประพาศครั้งแรกกับครั้งหลัง ถึงสองคราว แต่ผเอิญดัชเชสพระชายาประชวรมากทั้งสองคราวไม่เปนปรกติ จนเลยสิ้นพระชนม์เสียเมื่อปีกลายนี้ บัดนี้ดุ๊กโยฮันอัลเบรกต์เห็นเปนช่องที่จะเข้ามาเฝ้าเยี่ยมตอบถึงกรุงเทพฯ ได้ จึงกำหนดจะออกจากเมืองเยนัววันที่ ๓๐ เดือนธันวาคมตรงมายังกรุงเทพฯ และจะพาปรินเซสอลิซาเบตสโตลเบิกรอซซะลา ซึ่งทรงกระทำอาวาหมงคลใหม่มาเยี่ยมกรุงสยามเปนเมืองแรกด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการรับรองอย่างพระราชสัมพันธมิตร์อันได้คุ้นเคยกันนั้น กำหนดดุ๊กจะถึงกรุงเทพฯ วันที่ ๒๖ มกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๘..."

     ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มกราคม ถึงวันที่ ๓๐ มกราคม เป็นการจัดรับเสด็จดยุคโยฮันอัลเบิร์ต และคณะอยู่ในพระนคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรอรับดยุคฯ ที่ท่าราชวรดิฐ และทรงพาไปยังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่ง ณ ที่นั้นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน รอรับเสด็จอยู่ ก่อนจะทรงพาดยุคฯ และคณะไปยังพระราชวังสวนดุสิต โปรดเกล้าฯ ให้ประทับที่อุดรภาค อันตั้งอยู่ต่อเนื่องกันกับพระที่นั่งอัมพรสถาน 

    การรับเสด็จในพระนครประกอบด้วย การนำดยุคฯและคณะทอดพระเนตรสถานที่สำคัญ อาทิ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ช้างเผือกยืนโรงในพระบรมมหาราชวัง เรือพระที่นั่งไชย เรือพระที่นั่งศรี และเรือพระที่นั่งกราบพายถวายทอดพระเนตรที่ท่าวาสุกรี ทอดพระเนตรวัดอรุณราชวรารามและประทับเรือพระที่นั่งทอดพระเนตรคลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการสวนสนามของทหารในกรุงเทพฯ ที่สนามหน้าพระราชวังดุสิต และจัดให้มีการซ้อมรบของทหารที่บริเวณทุ่งพญาไทจัดถวายดยุคฯ ทอดพระเนตร   ในช่วงกลางคืนมีการเลี้ยงรับรอง ทั้งงานเต็มยศที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และวังเจ้านายเช่น วังบางขุนพรหม และยังจัดให้มีการทอดพระเนตรละครปรีดาลัย ซึ่งเป็นนิยมอย่างมากในขณะนั้น รวมถึงทอดพระเนตรงานวัดเบญจมบพิตรอันเป็นงานใหญ่ของพระนครอีกด้วย

     ครั้นถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ดยุคโยฮันอัลเบิร์ต ดัชเชสอลิสซาเบธ รอตซาลา พระชายา และคณะ เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปยังเมืองเพชรบุรี ซึ่งมีรายละเอียดในราชกิจจานุเบกษา ดังนี้   

"...วันที่ ๓๑ มกราคม เวลาเช้า ๕ โมงครึ่ง เจ้าเสด็จโดยรถยนตร์ไปเสด็จลงเรือยนตร์ที่ท่าวาสุกรี นายพลตรีพระยาสุรเสนา กับพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร ตามเสด็จไปส่งเจ้าที่สถานีบางกอกน้อย เสด็จขึ้นรถไฟไปประพาศเมืองเพ็ชร์บุรี ถึงเมืองเพ็ขร์บุรีเวลาบ่าย ๔ โมง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสด็จล่วงน่ามาคอยรับเจ้าเสด็จโดยรถยนตร์ไปเสด็จขึ้นเก้าอี้หาม ขึ้นพักบนพระที่นั่งเพ็ชรภูมิ์ไพโรจน์บนพระนครคีรี

     เวลา ๒ ทุ่ม เสวยบนพระที่นั่งเพ็ชรภูมิ์ไพโรจน์ เวลา ๔ ทุ่มทอดพระเนตร์การจุดดอกไม้เพลิง แล้วเสด็จขึ้น

     วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ เวลาเช้าโมงครึ่ง เจ้าเสด็จทอดพระเนตร์ยอดพระเจดีย์แลถ้ำเพิงถ้ำพัง เวลา ๓ โมงเช้า เสด็จกลับเสวยเช้าที่พระที่นั่งเพ็ชรภูมิ์ไพโรจน์ เวลาบ่ายโมงหนึ่งเสวยกลางวัน

     เวลาบ่าย ๔ โมงครึ่ง เสด็จออกรับราษฎรแลทอดพระเนตร์สรรพกีฬา แล้วเสวยน้ำชาบนพลับพลาที่ชายเขา เวลา ๒ ทุ่มเสวยที่พระที่นั่งเพ็ชรภูมิ์ไพโรจน์ 

     วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ เวลาเช้าโมงครึ่ง เสด็จทอดพระเนตร์วัดพระนอน แล้วเสด็จโดยรถยนตร์ไปที่เขาบรรไดอิฐ ประพาศในถ้ำเขาบรรไดอิฐแล้ว เสด็จโดยรถยนตร์ถึงบ้านปืน เสวยอาหารที่พลับพลาบ้านปืน เสวยแล้วเสด็จลงประทับเรือแม่ปะขึ้นไปตามลำแม่น้ำ เวลาเที่ยงเสด็จกลับ เรือล่องลงมาขึ้นที่ท่าหลังจวนเมืองเพ็ชร์บุรี เสด็จทรงรถยนตร์ขึ้นไปบนพระที่นั่งเพ็ชรภูมิ์ไพโรจน์ เวลาบ่ายประพาศบนเขาแล้วทอดพระเนตร์กัดปลา เวลา ๒ ทุ่มเสวยอาหารค่ำที่พระที่นั่งเพ็ชรภูมิ์ไพโรจน์

     วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ เวลาเช้าเสด็จโดยกระบวนรถม้าจากเชิงเขาเสด็จประพาศถ้ำเขาหลวง แล้วถ่ายรูปหมู่ในระหว่างทางถนนรถไฟ ประพาศในถ้ำเขาหลวง ถ่ายรูปหมู่ในถ้ำเขาหลวงแลถ่ายรูปเฉภาะเจ้าชายกับเจ้าหญิงในถ้ำเขาหลวงด้วย แล้วเสด็จกลับโดยรถยนตร์ไปลงเรือข้ามฟาก เสด็จทอดพระเนตร์วัดสุวรรณารามแล้วเสด็จกลับพระที่นั่งเพ็ชร์ภูมิ์ไพโรจน์ เวลาบ่าย ๔ โมงครึ่ง ถ่ายรูปหมู่ที่เชิงอัฒจันท์พระที่นั่ง บ่าย ๕ โมงทอดพระเนตร์จุดลูกหนูที่พลับพลาเชิงเขาแล้วเสวยน้ำชา ที่นั้น เวลาพลบค่ำเสด็จโดยรถยนตร์ประพาศบ้านลาวเวียงคอยทอดพระเนตร์การส่งของ แลรับของถวายของพวกทรงดำ แล้วเสด็จกลับมาขึ้นพระนครคีรี เวลา ๒ ทุ่มเสวยบนพระที่นั่งเพ็ชรภูมิ์ไพโรจน์ 

     วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ เวลาเช้างโมงเศษ เสด็จออกจากพระนครคีรีโดยรถยนตร์ ผ่านตลาดในเมือง เสด็จขึ้นรถไฟที่สถานี รถไฟออกจากสถานีเมืองเพ็ชร์บุรีเวลาเช้า ๒ โมง เสวยอาหารเช้าในรถไฟ เวลาเที่ยงถึงสถานีบางกอกน้อย เสด็จประทับเรือยนตร์มาเสด็จขึ้นรถพระที่นั่งกลับพระราชวังดุสิต...”

                หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม  ดิศกุล ทรงเล่าถึงเหตุการณ์ในระหว่างที่ดยุคโยฮันอัลเบิร์ตและพระชายาประทับอยู่ที่เมืองเพชรบุรี ความว่า 

“...ในเวลาที่เจ้าประทับอยู่ที่เมืองเพชรบุรี เวลาเสด็จไปไหน ประพาสที่ไหน ข้าพเจ้าต้องไปด้วยทุกแห่ง จนเป็นที่คุ้นเคยกับดุ๊กแลดัชเชสส์มาก ดุ๊กได้ประทานกลักลงยาบรรจุขวด ๓ ใบแก่ข้าพเจ้า ส่วนหญิงพูนประทานตลับลงยา ๑ ใบ เสด็จพ่อทรงจัดไม้เท้าศีรษะทองคำให้ข้าพเจ้าถวายดุ๊กแลกระเช้าเงินให้ดัชเชสส์ ดุ๊กทรงถือไม้เท้าที่เสด็จพ่อถวายเสมอ เรือแม่ปะที่เจ้าเสด็จลง เสด็จพ่อประทานชื่อว่าเรือบรันซวิก เมื่อเสด็จเที่ยวบ้านลาวคอย เขาเล่นดนตรีถวายโดยเฉพาะเลือกเอาเพลง “ดิเฮนริบไบรท์” ซึ่งเป็นเพลงฝรั่ง เราออกจะอายเขา ที่พวกลาวโซ่งแกอวดว่าแกเล่นเพลงฝรั่งได้ดุ๊กตรัสถามว่าชื่อเพลงอะไร พวกลาวก็ทูลว่าเป็นเพลงฝรั่ง เราก้ต้องพูดว่าเป็นเพลงฝรั่ง ตอนเสด็จเที่ยวเขาหลวงต้องขี่ม้ากันทุกคน ข้าพเจ้าขี่อานไขว้ไม่เป็น ต้องขึ้นอานคร่อมเพราะเคยหัดขี่อย่างนั้น ดัสเชสส์ทรงอานไขว้รู้สึกว่าออกจะเหนื่อยมาก ในการรับเจ้าที่เมืองเพชรบุรี เวลาไปเที่ยวหรือเสวยบนพระที่นั่งก็ต้องไปร่วมโต๊ะเสวยด้วยทุกที กลับมาที่พักต้องดูการจัดดอกไม้ทุกวัน...”

     พระยาอานุภาพไตรภพ (จำรัส  เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา) ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยแห่งจักรวรรดิเยอรมัน ขณะนั้นรับราชการเป็นนายร้อยเอก ราชองครักษ์พิเศษในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในบรรดาศักดิ์ที่ หลวงอภิบาลภูวนารถ ได้รับพระบรมโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชองครักษ์ประจำพระองค์ดยุคโยฮันอัลเบิร์ต และพระชายา ได้บันทึกไว้สั้นๆ ถึงเหตุการณ์คราวนั้นว่า 

“...ในคราวที่ดุ๊กและดัชเช็สโยฮันอัลเบร็ชแห่งบรันสวิกประเทศเยอรมันนี เข้ามาเยี่ยมพระราชสำนักสยาม โปรดเกล้าฯ ให้ร้อยตรีจำรัสเป็นราชองครักษ์พิเศษ มีหน้าที่ชั้นต้นเป็นองครักษ์ประจำเจ้าทั้งสององค์ตลอดเวลา... และพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ประดับตราไฮริชแดร์ลือเวของแคว้นบรันสวิคได้ด้วย...”

 

ภาพประกอบ ลิขสิทธิ์เป็นของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร



ดยุคโยฮันอัลเบิร์ตฯ ดัชเชสอลิสซาเบธรอตซาลา พระชายา หม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม และหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พันโท หลวงจัตุรงควิไชย (เตี้ยม บุนนาค) ร้อยเอก หลวงอภิบาลภูวนารถ (จำรัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา) พร้อมด้วยคณะของดยุคฯ ฉายร่วมกันด้านหน้าถ้ำเพิง ถ้ำพัง บนเขามหาสวรรค์ เมืองเพชรบุรี วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๘ (พุทธศักราช ๒๔๕๒)


คณะของดยุคโยฮันอัลเบิร์ตและพระชายา พร้อมด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ขณะกำลังเดินทางด้วยกระบวนม้า จากพระนครคีรีไปยังถ้ำเขาหลวง วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๘ (พุทธศักราช ๒๔๕๒)

ดัชเชสอลิสซาเบธ รอตซาลา และดยุคโยอันอัลเบิร์ต ขณะกลำังเสด็จขึ้นรถไฟพระที่นั่ง ที่สถานีรถไฟเพชรบุรี มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ และพระธิดาทั้งสอง พร้อมด้วยทหารกองเกียรติยศ แตรวง ธงประจำกองตลอดจนข้าราชการกรมการเมืองเพชรบุรี ส่งเสด็จ เช้าวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ รัตนโสกินทรศก ๑๒๘ (พุทธศักราช ๒๔๕๒)

(จำนวนผู้เข้าชม 1502 ครั้ง)